‘มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท’ หนุนโภชนาการที่ดีของเยาวชน สานต่อปีที่ 33 โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน

“โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ภายใต้การดำเนินงานของ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และ CPF เป็นโครงการที่มีส่วนร่วมแก้ปัญหาทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชนไทย ตลอด 32 ปีที่ผ่านมา โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยภาวะโภชนาการของเด็กนักเรียนและเยาวชนในชนบทและพื้นที่ห่างไกลมาดำเนินงาน
จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2532 เพื่อมีส่วนเสริมสร้างโภชนาการที่ดีแก่เด็กและเยาวชนในชนบททุกภาคของไทย ผ่านกิจกรรมการเลี้ยงไก่ไข่และนำผลผลิตมาประกอบอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน โดยไข่ไก่อีกส่วนหนึ่งที่เกินจากการนำมาเป็นอาหารกลางวัน จะนำไปจำหน่ายให้แก่ชุมชน เพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายกลับมาหมุนเวียนเพื่อให้ดำเนินโครงการได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากผลผลิตไข่ไก่ที่เด็กๆ ได้กินตลอดช่วงเปิดเทอมแล้ว มูลนิธิฯ วางโมเดลระบบบริหารจัดการโครงการฯ เพื่อให้แต่ละโรงเรียนดำเนินโครงการได้อย่างยั่งยืน และยังเป็นเสมือน “ห้องเรียนสังคม” หรือ Social Lab ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ทั้งด้านการผลิต การจัดการการเลี้ยงไก่ไข่ในเชิงอาชีพ การเลี้ยงไก่ไข่ที่ถูกหลักวิชาการ การจัดการผลผลิต การทำบัญชี ระบบสหกรณ์ รวมไปถึงการสร้างทักษะอาชีพ จุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้นำไปเป็นทางเลือกอาชีพในอนาคต โดยมีพี่ๆ สัตวบาลจาก CPF เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับครูและนักเรียน
มูลนิธิฯ ดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ จากการสนับสนุนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ภายใต้การดูแลของสำนักงานโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขยายผลไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. และสังกัดอื่นๆ จนถึงปัจจุบัน เข้าสู่ปีที่ 33 มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ 880 โรงเรียน อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 231 โรงเรียน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 342 โรงเรียน ภาคกลาง 138 โรงเรียน ภาคตะวันออก 56 โรงเรียน และภาคใต้ 113 โรงเรียน โดยมี CPF เป็นภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุนโครงการ และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ JCC-B, Makro เน้นช่วยเหลือโรงเรียนในทุกภูมิภาคที่มีเด็กนักเรียนและเยาวชนมีปัญหาทุพโภชนาการ
ภายใต้หลักการในการบริหารจัดการโครงการฯ มีมูลนิธิฯ บริหารจัดการโครงการและงบประมาณ อาทิ การก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ อุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์และปัจจัยการผลิต โดยร่วมกับ CPF คัดเลือกโรงเรียน ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิควิชาการการเลี้ยงไก่ไข่ พร้อมทั้งติดตามประสิทธิภาพการเลี้ยงของแต่ละโรงเรียนเพื่อร่วมแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 จ.ตาก เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 – ม.6 มีนักเรียน 1,908 คน “ดร.ศิรภัสสร ชุมภูเทพ” ผอ.โรงเรียนฯ กล่าวว่า โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ตั้งแต่ปี 2559 จำนวนไก่ไข่ที่เลี้ยง 300 ตัว เด็กๆ ได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารมื้อกลางวันสัปดาห์ละ 2 มื้อ ขอขอบคุณมูลนิธิฯ และ CPF ที่ส่งมอบโครงการดีๆ ช่วยให้เด็กเติบโตสมวัยและยังได้ความรู้เรื่องการดูแลไก่ไข่ โรงเรียนสามารถนำมาบูรณาการการเรียนการสอนเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก ชุมชนเองก็ได้บริโภคไข่ไก่ในราคาย่อมเยา และยังตอบโจทย์การผลิตอาหารปลอดภัย การสร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืน ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี
ด้าน คุณประจักสิน บึงมุม ผอ.รร.บ้านคลองเรือ ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร กล่าวว่า โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ มา 1 ปี สิ่งที่ได้รับจากโครงการฯ มีหลายด้าน คือ นักเรียนมีโภชนาการที่ดีขึ้นจากการที่ได้บริโภคไข่ไก่ในอาหารมื้อกลางวันทุกวัน เป็นโครงการที่ส่งเสริมเข้าถึงโปรตีนคุณภาพ ได้เรียนรู้และมีทักษะในการเลี้ยงไก่ไข่ เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้สู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ การบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีวิธีการ มีขั้นตอน ซึ่งเราได้รับการถ่ายทอดความรู้และคำแนะนำจาก CPF และมูลนิธิฯ เช่น โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ที่เราต้องรู้จักบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่ ระบบบัญชี การคำนวณจุดคุ้มทุน เป็นต้น
คุณลักษณา พรหมพล อดีตผู้อำนวยการ รร.บ้านห้วยลาด อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล-ม.6 มีนักเรียน 300 คน เดิมโรงเรียนเลี้ยงไก่ไข่อยู่แล้ว เพื่อนำผลผลิตมาเป็นอาหารกลางวัน แต่ได้เพียงสัปดาห์ละ 1 มื้อ หลังจากที่โรงเรียนเข้าร่วมโครงการในปีนี้เป็นปีแรก เริ่มเลี้ยงไก่ลอตแรก 200 ตัว เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผลผลิตไข่ไก่ทำให้เด็กนักเรียนได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารกลางวันสัปดาห์ละ 2 มื้อ โรงเรียนมีโรงเรือนที่เลี้ยงไก่ไข่ที่ได้รับการดูแลด้านสุขาภิบาลที่ดี ไม่มีกลิ่นรบกวน นักเรียนมีความรับผิดชอบ ได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ที่ถูกต้อง ชุมชนรอบข้างได้บริโภคไข่ไก่ที่สดและราคาย่อมเยา
ขณะที่ คุณเสกสรร ณ น่าน ผอ.รร.พระพุทธบาทวิทยา ต.พระพุทธบาท อ.เชียงกลาง จ.น่าน กล่าวว่า โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ปี 2560 เป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ทั้งต่อนักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ม.3 รวม 240 คน รวมถึงโรงเรียนและชุมชน ก็ได้รับประโยชน์ด้วย นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่สดใหม่เป็นอาหารกลางวัน ผลผลิตไข่ไก่จากแม่ไก่ 150 ตัว เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารกลางวัน ส่งเสริมโภชนาการที่ดีให้กับนักเรียน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการเลี้ยงไก่ไข่ที่มีมาตรฐาน มีความรู้-ทักษะที่เป็นพื้นฐานอาชีพในอนาคต โรงเรียนมีคลังอาหารมั่นคง ชุมชนได้บริโภคไข่ไก่สดๆ จากโครงการฯ ที่นำมาจำหน่ายในราคาย่อมเยา ช่วยลดค่าครองชีพ และเป็นแหล่งศึกษาดูงานการเลี้ยงไก่ไข่
ตลอด 32 ปี ของโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ส่งเสริมเด็กและเยาวชน 180,000 คน เข้าถึงโปรตีนคุณภาพ ได้บริโภคไข่ไก่เป็นอาหารมื้อกลางวันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 มื้อ โรงเรียนฯ มีกองทุนสะสมเพื่อใช้หมุนเวียนในโครงการฯ เกิดความร่วมมือระหว่าง ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ผ่านกิจกรรม Co-production ชุมชนมีแหล่งเรียนรู้อาชีพเกษตรธุรกิจ รวมทั้งผลผลิตจากโครงการเอื้อประโยชน์ให้สมาชิก 1,972 ชุมชนรอบโรงเรียน เข้าถึงอาหารโปรตีนคุณภาพจากไข่ไก่สด สะอาด และปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม การเลี้ยงไก่ไข่ยังเป็นอาชีพทางเลือกสำหรับนักเรียนและผู้ปกครองด้วย
โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ชุมชน เป็นโครงการที่มีโอกาสขยายผลไปสู่การสร้างเป็น Social Enterprise สอดรับกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ ในข้อ 2 – Zero Hunger ขจัดความหิวโหย และข้อ 3 Good health and well-being สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย
Cr.PR CPF