“นภินทร “ ถกคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย เคาะมาตรการช่วย SMEs จัดงาน ‘มหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย’ ปลายเดือนมี.ค.2567 กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ พร้อมวาง Road Map ส่งเสริมและแก้ปัญหา SMEs ปูทางปีแรกเพิ่มมูลค่า SMEs ได้ 3 แสนล้านบาท และ 5 แสนล้านต่อปี ภายใน 4 ปี
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย ว่า ได้หารือภาคเอกชนเพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเคาะมาตรการช่วย SMEs ไทย 2 แนวทางคือ
1.จัดกิจกรรม “มหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย” ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วน (Quick Win) ของกระทรวงพาณิชย์ในการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SMEs กำหนดจัดงานช่วงปลายเดือน มี.ค.2567 ที่กรุงเทพฯ โดยจะเปิดพื้นที่ให้ SMEs เข้าร่วมแสดงและจำหน่ายสินค้า เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจอาหาร ผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น จำนวนไม่น้อยกว่า 100 คูหา จัดการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างคู่ค้าทางธุรกิจ
จัดสัมมนาหัวข้อที่ SMEs จำเป็นต้องรู้เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น กฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศ สิทธิประโยชน์ FTA และแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น การให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ภายใต้กิจกรรม “จับคู่กู้เงิน” และการให้คำปรึกษาด้านการทำธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ ในระยะที่ 2 จะจัดกิจกรรมออนทัวร์ ไปยัง 4 ภูมิภาค เพื่อช่วย SMEs ในส่วนภูมิภาคด้วย
2.วางโรดแมป ( Road Map) “มาตรการส่งเสริมและแก้ปัญหา SMEs” เพื่อเพิ่มสัดส่วน GDP SMEs ไทย ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่า SMEs ให้ได้ 3 แสนล้านบาท ภายใน 1 ปีแรก (ปี 2566-2567) และนำไปสู่มูลค่า 5 แสนล้านบาทต่อปี ภายในปี 2570 หรือเติบโตขึ้น 40% โดยวางแผนงานดังนี้
1.บูรณาการระหว่าง 3 หน่วยงาน คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อจัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมทักษะให้ SMEs
2. สร้างอาชีพด้วยแฟรนไชส์ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ว่างงาน ผู้สนใจประกอบธุรกิจ และครอบครัวผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถเลือกซื้อแฟรนไชส์ตามความถนัด
3.เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศด้วยการนำสินค้าชุมชน หรือ SMEs หรือ OTOP มาเสนอขายแก่ผู้บริโภคในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยกว่า 2.5 ล้านคน โดยจัดแพกเกจสินค้าที่เหมาะกับการยังชีพให้สะดวกต่อการเลือกซื้อสินค้า และมีระบบการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็ว ซึ่งได้ตั้งคณะทำงาน มีอธิบดีกรมการค้าภายใน กำกับดูแล
4.เพิ่มมูลค่าสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและนอกประเทศ และตั้งเป้าที่จะเพิ่มสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI อีก 20 รายการ จากเดิมที่มีอยู่ 193 รายการ และเพิ่มมูลค่าการค้าจาก 5.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 6.2 หมื่นล้านบาท
5.การบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อรักษาสมดุลราคาทั้งพืชไร่ พืชสวน และปศุสัตว์ เพื่อรองรับผลผลิตที่ออกสู่ตลาด เป้าหมาย 75,000 ตัน/ปี
6.พัฒนาร้านค้าโชห่วยด้วยระบบการค้าสมัยใหม่ นำเทคโนโลยี POS มาช่วยบริหารจัดการร้านค้า พร้อมทั้งปรับภาพลักษณ์ร้านค้าให้สวยงาม เพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ให้เข้าใกล้ลูกค้ามากขึ้น และส่งเสริมการแข่งขันให้เท่าเทียมกัน
7.ส่งเสริมการเติบโต SMEs ในท้องถิ่น ผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (THAI SME-GP) ให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดและเป็นคู่ค้ากับภาครัฐได้
8.สนับสนุนและสร้างมาตรฐานธุรกิจ E-Commerce โดยส่งเสริมให้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมรับเครื่องหมาย DBD Registered การันตีความมีตัวตน และเครื่องหมาย DBD Verified รับรองความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจ
9.ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นนครอัญมณีโลก เพื่อช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพราะเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ SMEs เป็นจำนวนมาก
นายนภินทร กล่าวว่า เพื่อการผลักดันครั้งนี้สำเร็จเป็นรูปธรรม กระทรวงฯ ได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดร่วมมือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในแต่ละพื้นที่คัดเลือกทำเลการค้าที่ดีในท้องถิ่นของตนเองไม่น้อยกว่า 10-20 แห่ง สร้างพื้นที่ขายสินค้าให้แก่แฟรนไชส์ พร้อมช่วยเจรจาขอค่าเช่าในอัตราพิเศษ นอกจากนี้ ได้ประสานงานกับกระทรวงพลังงานจัดหาทำเลการค้าที่ดีสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ในสถานีบริการนํ้ามันเชื้อเพลิง (ปั๊มน้ำมัน) และเจรจาค่าเช่าราคาถูก หรือ ฟรีใน 1 ปีแรก
รวมถึงประสานสมาคมตลาดสดไทยที่มีสมาชิกกว่า 300 แห่งให้คัดเลือกทำเลการค้าหรือแจ้งความต้องการว่าในพื้นที่นั้นต้องการแฟรนไชส์ประเภทใดไปลงทุน การที่กระทรวงพาณิชย์ช่วยคัดเลือกทำเลการค้าที่ดี เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินว่าจะได้ลูกค้าที่มีทำเลการค้าที่ดี เป็นลูกค้าที่มีคุณภาพ และมีความสามารถในการชำระหนี้สูง ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการของสถาบันการเงิน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ