วิสัยทัศน์ความยั่งยืนจาก 7 ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

ด้วยเป้าหมายที่จะดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินให้เกิดความยั่งยืนด้วยการคิดและวางแผนให้ครบทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน มุ่งเน้นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การให้ความสำคัญกับวิถีชีวิต การสร้างงาน สร้างรายได้ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จึงปรากฏผลออกมาในรูปแบบของการจัดตั้ง ‘คณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน’ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

7 ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ประกอบด้วย

  1. ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  2. ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
  3. ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
  4. ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  5. ผศ. ดร.อนุรัตน์ อนันทนาธร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  6. ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี
  7. ต่อพงศ์ เสลานนท์ อุปนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

และนี่คือ 7 วิสัยทัศน์ที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ กับการพัฒนาความยั่งยืนในแต่ละมิติ

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์  อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

                  “ เส้นทางแห่งโอกาสสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของประเทศ”

“รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินไม่ใช่แค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นเส้นทางแห่งโอกาส และสัญลักษณ์ความภูมิใจของประเทศไทย หรือ Pride of the Nation เพราะโครงการนี้จะ ‘สร้างโอกาส’ ‘สร้างงาน’ และพิสูจน์ว่า ‘คนไทยทำได้’ ที่สำคัญตลอดเส้นทาง 220 กิโลเมตร ของรถไฟความเร็วสูงฯ สายนี้จะทำให้การเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในประเทศไทย เพราะนี่จะเป็นเส้นทางแห่งอนาคต จึงสำคัญมากที่เส้นทางของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ต้องมองทั้งเรื่องการเชื่อมโยงและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ โดยหากมองด้านของการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการนี้จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตผู้คนและสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เชื่อมถึง EEC ซึ่งจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการเคลื่อนคน การกระจายการลงทุนออกไปยัง EEC เพิ่มมากขึ้น”

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง

                              “รถไฟความเร็วสูงเป็นของคนไทยทุกคน”

“การพัฒนาด้านความยั่งยืนสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ นั้น เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งจะต้องส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการนี้ไปด้วยกัน เพราะรถไฟถือเป็นของคนไทยทุกคน จึงต้องพัฒนาคนและพัฒนาชุมชนในพื้นที่ ตลอดจนที่ตั้งสถานีและพื้นที่โดยรอบที่รถไฟแล่นผ่าน คือ จังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ให้เข้มแข็ง โดยต้องรักษาวัฒนธรรมและอาชีพของท้องถิ่นไว้ให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาเงื่อนไขระดับนิเวศของสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ ควรต่อยอดโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ โดยเชื่อมต่อกับโครงการจิตอาสาประจำจังหวัดที่รถไฟแล่นผ่าน โดยสนับสนุนการสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคมและชุมชนในจังหวัด อาทิ ธุรกิจด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ เพื่อช่วยส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่”

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

รถไฟความเร็วสูงฯ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้คนในท้องถิ่น”

“โครงการนี้ต้องมองการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติควบคู่กันไป ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสการเติบโตในพื้นที่ EEC และที่สำคัญต้องสร้างความสมดุลระหว่างโลกสองโลกเข้าด้วยกัน คือ โลกของการเติบโตทางเศรษฐกิจ กับโลกการเติบโตในเชิงวัฒนธรรมที่มีคนในชุมชนเป็นศูนย์กลาง เป็นโจทย์ที่ท้าทายพอสมควร สิ่งสำคัญต้องไม่ใช่ให้รถไฟนำความเจริญวิ่งผ่านไปโดยที่ชาวบ้านได้แต่มอง แต่จะต้องทำให้รถไฟพาความเจริญกระจายไปทุกส่วน ทุกพื้นที่ที่รถไฟวิ่งผ่าน ฉะนั้นความยั่งยืนของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ต้องคำนึง 4 ด้าน ได้แก่ 1. Environmental Friendly 2. Circular Economy 3. Inclusive Economy 4. Grassroots Development

“โครงการจึงต้องตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ตั้งแต่รูปแบบตัวรถไฟที่ใช้วัสดุรีไซเคิล พัฒนาสู่ตัวสินค้าและบริการ ทำให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งต้องพัฒนาให้เป็น Inclusive Business เน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม ใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด มีการจ้างงานชุมชนโดยรอบจะช่วยส่งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร สามารถนำผลิตภัณฑ์เกษตรของชุมชนมาทำเป็นอาหารจำหน่ายในชานชาลาภายในสถานี ในขบวนรถไฟ เพื่อให้เกิดธุรกิจชุมชน ตลอดจนนำวัตถุดิบจากชุมชนมาแปรรูป โดยประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนกับกลุ่มวิสาหกิจและผู้ประกอบธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดพลังตอกย้ำว่าโครงการนี้จะเป็นเครื่องมือสร้างความเจริญให้แก่คนในพื้นที่และทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า”

ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์   รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ คือ ‘นวัตกรรม’

เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายพัฒนาประเทศ”

“การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะต้องเชื่อมโยง 5 จังหวัดที่รถไฟความเร็วสูงฯ แล่นผ่าน คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง บนพื้นฐานการพัฒนา ดังนี้ 1. การพัฒนาอย่างชาญฉลาด โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ คือ ‘นวัตกรรม’ เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมาย จึงต้อง ‘พัฒนานวัตกรรมเพื่อให้เป็นเครื่องมือ’ เช่น รถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่น ที่เป้าหมายของการสร้างไม่ใช่เพื่อการพัฒนารถไฟความเร็วสูง แต่สร้างเพื่อทำให้เมืองโตเกียวกับโอซาก้าเชื่อมต่อกัน ดังนั้น รถไฟความเร็วสูงฯ คือ เครื่องมือเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ กระจายความเจริญ สร้างฮับใหม่ๆ และช่วยขับเคลื่อนโครงการ EEC 2. พัฒนาคุณภาพชีวิต การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญขนาดใหญ่ต้องทำให้เข้าถึงใจของคนส่วนใหญ่ เช่น การใช้แนวคิดฝนตกทั่วฟ้า ที่ต้องให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม แม้แต่ละคนมีต้นทุนที่ต่างกัน แต่โครงการนี้จะเป็นตัวช่วยทำให้ต้นทุนของทุกคนใกล้กัน 3. สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การดำเนินโครงการจะต้องคำนึงถึงการปกป้องธรรมชาติ รักษาสมดุลของระบบนิเวศ ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างพอดีและสมดุล ซึ่งจะทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“โครงการนี้จึงต้องพัฒนาอย่างยั่งยืน ใช้ประโยชน์แบบผสมผสาน นั่นคือการเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงความยั่งยืนและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ คู่ขนานกับการสร้างจุดเด่นให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินสามารถช่วยพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้ โดยสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวสีเขียว และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ให้จังหวัดที่รถไฟแล่นผ่าน”

ผศ. ดร.อนุรัตน์ อนันทนาธร อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

“น้อมนำศาสตร์พระราชา ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’

ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน”

“การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องเน้นการน้อมนำศาสตร์พระราชา ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

“ต้นน้ำ คือ สร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เข้าถึงความคาดหวังชุมชนที่มีต่อโครงการผ่านกระบวนการวิจัยชุมชนและรับฟังความคิดเห็น ตอบโจทย์ 4 ประเด็น คือ ประโยชน์จากรถไฟฟ้า ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงการเตรียมการเพื่อลดผลกระทบ

“กลางน้ำ คือ สร้างความเชื่อมั่นผ่านการสร้างนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และสร้างพันธสัญญากับพันธมิตรหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สื่อให้เห็นประโยชน์ของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ รวมทั้งมีการสร้างเครือข่ายในพื้นที่เชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ เกิดการยอมรับ และมีความรู้สึกเป็นเจ้าของรถไฟความเร็วสูงร่วมกัน

“ปลายน้ำ คือ การพัฒนาใน 4 มิติ คือ พัฒนาโครงการ ให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย พัฒนาบุคลากร ผ่านการให้ทุนสนับสนุน รองรับการจ้างงานในพื้นที่ พัฒนาชุมชน ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สร้างธุรกิจชุมชน สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่น SMEs สตาร์ตอัพ พัฒนาประเทศ สร้างศักยภาพและเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ กระจายรายได้อย่างเป็นธรรม สร้างงานสร้างอาชีพ สร้างความสมดุลในระบบนิเวศ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี”

ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี

“ส่งเสริมสินค้าชุมชน สนับสนุนเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs

กระจายรายได้อย่างทั่วถึง”

“โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ จะต้องเชื่อมโยงกับชุมชนเพื่อการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ไม่เพียงแค่พื้นที่ตามสถานีเท่านั้น แต่ต้องขยายไปยังพื้นที่รอบจังหวัดที่รถไฟผ่านด้วย โดยต้องสร้างความร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดภาคตะวันออก ร่วมมือกับสถาบันศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรนวัตกรรมเพื่อผู้ประกอบการทั้งในระดับชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ จัดสัมมนาสร้างความสัมพันธ์กับสมาชิกหอการค้าภาคตะวันออกเพื่อเพิ่มการรับรู้และสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการและชุมชนท้องถิ่นได้ทั่วถึงมากขึ้น และสนับสนุนองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ

“ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้เพิ่มให้กลุ่มเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ต่างๆ อาทิ การแปรรูปสินค้าเกษตร การพัฒนาด้านการทำตลาด ฯลฯ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงฯ จะสร้างให้เกิดความร่วมมือที่ช่วยยกระดับสินค้าและบริการ สามารถพัฒนาให้สินค้าและบริการของชาวชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของบริการรถไฟความเร็วสูงฯ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับชาวบ้าน ชุมชน และสถาบันการศึกษาเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ต่อพงศ์ เสลานนท์ อุปนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

“ต้องสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีขึ้นแก่ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ”

“โครงการนี้ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ โดยมีปัจจัยที่ต้องดำเนินการ 4 ด้าน คือ 1. Infrastructure สถานีรถไฟควรมีการเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบโดยสารรูปแบบอื่น เพื่อให้ผู้พิการไปถึงปลายทางได้ง่ายที่สุด 2. Price ผู้พิการควรได้รับสิทธิ์ใช้บริการฟรี หรือสิทธิ์ในการทดลองใช้ฟรีในช่วงแรก 3. System ออกแบบโครงการทั้งตัวรถไฟ สถานี และระบบต่างๆ ในรูปแบบ Universal Design 4. Service ให้บริการที่รองรับผู้พิการ

“ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการ 1.8 ล้านคน ซึ่งใน 5 จังหวัดของพื้นที่ EEC มีผู้พิการอยู่ประมาณ 2 แสนคน ดังนั้น จะต้องทำให้คนกลุ่มนี้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กลับเข้าสู่ Supply Chain ของสังคม และได้รับประโยชน์จากการบริการรถไฟความเร็วสูงฯ”

ที่มา วารสารบัวบาน ประจำเดือนธันวาคม

ที่มา :  https://www.easternhsr.com/News/nDetail/articleid/222

http://www.cp-enews.com/news/details/cpinternal/4522

เปิดความคืบหน้า รถไฟความเร็วสูง (High speed train) เชื่อม 3 สนามบิน เป็น Pride of Thailand ความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคน

“ซีพี” ตั้ง 7 ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมพัฒนารถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน