การทำบรรจุภัณฑ์สีเขียว

โดย รศ.ดร. สถาพร โอภาสานนท์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บรรจุภัณฑ์สีเขียว (Green Packaging) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายสินค้าสีเขียว (Green Distribution) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดขนาดบรรจุภัณฑ์ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม…

การกระจายสินค้ามีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีซัพพลายเออร์และร้านสาขาจำนวนมาก โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ต้องอาศัยการใช้ศูนย์กระจายสินค้าในการทำ Cross-docking เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ไปยังร้านสาขา การกระจายสินค้าจึงส่งผลโดยตรงต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก รวมทั้งยังเป็นกิจกรรมที่สร้างผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การทำบรรจุภัณฑ์สีเขียว (Green Packaging) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายสินค้าสีเขียว (Green Distribution) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดขนาดบรรจุภัณฑ์ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การร่วมมือกับผู้ผลิตในการทำบรรจุภัณฑ์ให้เป็นรูปแบบมาตรฐาน การส่งเสริมและพัฒนากระบวนการส่งคืนบรรจุภัณฑ์ การนำบรรจุภัณฑ์มาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล การลดการใช้วัสดุและเวลาในการแกะบรรจุภัณฑ์ การใช้ระบบพาเลทที่สามารถรีไซเคิลได้ ไปจนถึงการลดการใช้พลังงานภายในคลังสินค้า

จากแรงกดดันของประชาคมโลกในการลดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมที่มาจากการดำเนินธุรกิจ ไฮเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่จึงหันมาให้ความสนใจแก่การทำบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การที่ Amazon จัดส่งสินค้าโดยไม่มีการหีบห่อด้วยบรรจุภัณฑ์ของ Amazon ทับเข้าไปอีกชั้น หรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีกระบวนการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับศูนย์ โดยตั้งโครงการที่เรียกว่า Amazon’s Frustration-Free Packaging Program ที่ใช้บอกว่าสินค้าแต่ละรายการต้องการการหีบห่อสินค้าอย่างไร โดยตัวกำหนดที่เรียกว่า Ships In Own Container (SIOC certification) จะถือเป็นสินค้าที่ถูกรับรองว่าไม่จำเป็นต้องมีบรรจุภัณฑ์ของ Amazon มาแพ็คอีกชั้นหนึ่งก่อนจัดส่ง ทำให้สามารถลดการใช้บรรจุภัณฑ์ลงได้จำนวนมาก

ตัวอย่างของการทำบรรจุภัณฑ์สีเขียวที่ลดการใช้พลังงานในกระบวนการกระจายสินค้าได้แก่ Walmart ในประเทศอินเดีย ที่ใช้กล่องจัดส่งสินค้าเก็บอุณหภูมิ (Shipper Box) สำหรับการบรรจุสินค้าเน่าเสียง่ายและสินค้าที่ต้องควบคุมความเย็นในกระบวนการขนส่งที่มีระยะทางไกล โดยบรรจุน้ำแข็งแห้งภายในกล่องจัดส่งสินค้าเก็บอุณหภูมิเพื่อควบคุมอุณหภูมิให้มีระดับความเย็นของสินค้าตามที่ต้องการ ซึ่งในอดีตจะใช้ผ้าคลุมทำความเย็นซึ่งสามารถใช้ได้เฉพาะการขนส่งในระยะทางสั้นๆ เท่านั้น

การใช้กล่องจัดส่งสินค้าเก็บอุณหภูมิช่วยให้ Walmart ขยายโซ่อุปทานเย็น (Cold Supply Chain) ของบริษัทให้สามารถจัดส่งสินค้าแช่แข็งไปยังกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพารถบรรทุกห้องเย็น (Refrigerated Truck) ที่สิ้นเปลืองพลังงานมากกว่า หรือกรณี Walmart ในประเทศเม็กซิโก ที่ใช้อุปกรณ์บรรจุภัณฑ์และตู้ขนส่งสินค้าที่ใช้น้ำแข็งแห้งหรือเทคโนโลยีให้ความเย็นในการสร้างความเย็นให้กับตัวสินค้าทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าหรือน้ำมันดีเซล ทำให้สามารถลดต้นทุนการขนส่งได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์

สำหรับประเทศไทย ที่มีการสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ (Closed-loop packaging) ตลอดห่วงโซ่ของบรรจุภัณฑ์ของกลุ่มเทสโก้ ที่เริ่มตั้งแต่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืน การลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์หรือยกเลิกการใช้วัสดุบางประเภท การนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ และการนำไปรีไซเคิล

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างความร่วมมือระหว่างเทสโก้ โลตัส และธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ โดยนำกล่องกระดาษใช้งานแล้วในธุรกิจของเทสโก้ โลตัส ไปรีไซเคิลเป็นถุงกระดาษใหม่ที่มีคุณภาพแข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี ด้วยกระบวนการผลิตสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการควบคุมการใช้ทรัพยากรและการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy และนโยบาย Zero Waste ที่เป็นการลดปริมาณขยะ