‘คนเก่ง’ กับ ‘คนดี’ ใครที่ทำให้องค์กรอยู่รอด

โดย คุณบัญญัติ คำนูณวัฒน์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

“คน” ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีค่ามากที่สุดสำหรับองค์กร การที่องค์กรจะเคลื่อนไปข้างหน้าได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับ “คน” เป็นสำคัญ ดังนั้น หลายองค์กรโดยเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ ที่เห็นความสำคัญต่างก็แย่งกันแสวงหาคนที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่เป้าหมายอันสูงสุดได้ ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ หากไม่ใช่

“คนเก่ง” ยิ่งองค์กรไหนสามารถรวบรวมคนเก่งเข้ามาไว้รวมกันในองค์กรมากเท่าไหร่ องค์กรนั้นก็ยิ่งมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้นเร็วเท่านั้น44

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่องค์กรมีแต่คนเก่งก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้บริษัทอยู่รอดปลอดภัยไปจนตลอดรอดฝั่ง ถ้าคนเก่งเหล่านั้นใช้ความเก่งในทางที่ผิด เช่น การคอร์รัปชั่น การยักยอกทรัพย์สินของบริษัท การหลอกลวงผู้บริโภค การไม่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า การเอาเปรียบคู่ค้าในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ฯลฯ ก็สามารถทำให้บริษัทเสียหายได้เช่นกัน เพราะหากมีแต่คนเก่งแต่ทำตัวไม่ดี ก็ไม่มีใครอยากจะเข้ามาคบค้าสมาคมด้วย หรือไม่อยากเข้ามาซื้อสินค้าและใช้บริการกับบริษัทนั้น ที่สุดแล้วบริษัทนั้นก็ไปไม่รอด

ดังนั้น “คนเก่ง” จึงไม่ได้เป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรในปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว หากแต่ต้องเป็น “คนดี” ด้วย คือทั้ง “เก่งและดี” จึงถือเป็น “สุดยอดคน” ที่หลายองค์กรต้องการครอบครอง เพราะนอกเหนือจากความเก่ง คนดีจะมีจิตสำนึกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมากกว่าคนปกติทั่วไป ทำให้เขามีความซื่อสัตย์ ไม่คอร์รัปชั่น ไม่ใช้อำนาจหน้าที่เอาเปรียบคู่ค้า ไม่คดโกงลูกค้า ไม่หลอกลวงผู้บริโภคและไม่ยักยอกทรัพย์สินของบริษัท ฯลฯ อันเป็นการสร้างชื่อเสียงให้องค์กร ส่งผลให้องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ชื่นชมและเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะคนในชุมชนและคนที่จะมาคบค้าสมาคมด้วย

ยกตัวอย่าง เมื่อปี 2556 เช่น กรณีที่ น.ส. สมศรี ใจหาญ ผู้จัดการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น จังหวัดชลบุรี พบเงินสด 9.8 หมื่นบาทในร้าน แล้วนำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรหนองขาม จังหวัดชลบุรี ทันที เพื่อเตรียมส่งคืนให้กับเจ้าของเงินต่อไป ไม่ยักยอกเงินไว้แม้แต่บาทเดียว กลายเป็นบุคคลตัวอย่างที่น่ายกย่องในชั่วข้ามคืน ถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนเป็นจำนวนมาก เพราะการเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์ที่บริษัทได้ร่วมบ่มเพาะมาอย่างต่อเนื่องถึง 8 ปี ในขณะนั้น ได้ส่งผลให้บริษัทพลอยมีชื่อเสียงตามไปด้วย

ไม่เพียงแค่เฉพาะเหตุการณ์นี้เท่านั้นที่คนดีสร้างชื่อเสียงให้องค์กร ยังมีอีกตัวอย่างอีกมากมายที่คนดีเหล่านี้ได้ช่วยสร้างชื่อเสียงและส่งผลทางธุรกิจ ทำให้หลายบริษัทเติบโตและอยู่ร่วมกับสังคมและชุมชนได้อย่างผาสุก

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้มีหลายองค์กรได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริมบุคลากรให้เป็นคนดีด้วยการรวมพลังกันต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งเวลาพูดถึงก็มักจะนึกถึงแต่หน่วยงานภาครัฐก่อนเสมอ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นและถ้าจะให้ดีควรขยายผลไปที่ภาคเอกชนให้ร่วมกันส่งเสริมให้คนในองค์กรของตนเองเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริตควบคู่ไปกับการเป็นคนเก่ง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวมด้วยเช่นกัน

Cr:CP E-News