หุ้นไทยส่อแววหมดแรงขึ้นต่อ นักวิเคราะห์แนะหนีไปหุ้นต่างประเทศ พร้อมถือเงินสด 30-50%

ตลาดหุ้นไทยยังคงหนีไม่พ้นจากการเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนย่ำแย่ที่สุดในโลก โดยล่าสุดดัชนี SET ติดลบ 6.6% ในปีนี้ มากกว่าอันดับ 2 อย่างดัชนี BIST 100 ของตุรกี ที่ติดลบ 2.7%

 

การเมืองกดดันหุ้นไทยต่อเนื่อง

ความอ่อนแอของหุ้นไทยอาจจะยังไม่จบลงง่ายๆ ในมุมมองของผู้คนในแวดวงการลงทุนของไทยอย่าง ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ มองว่า หุ้นไทยคงจะเงียบเหงาต่อเนื่อง ภาพรวมอาจจะไม่ได้แย่ลงไปมากนักจากปัจจุบัน แต่ก็คงจะไม่ได้ดีไปกว่านี้

ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เป็นเช่นนั้นคือ เรื่องของการเมือง ซึ่งหากท้ายที่สุดแล้วนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคก้าวไกล อาจจะทำให้นักลงทุนยังไม่กล้าที่จะใส่เงินลงทุนเข้ามา

“ช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนต่อจากนี้คงจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น หากพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ อาจทำให้นักลงทุนยังกังวลต่อเรื่องนโยบายและการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่อาจเกิดขึ้น”

อีกประเด็นที่นักลงทุนต้องจับตาคือ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ ธปท. ออกมาส่งสัญญาณว่าอาจจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ กลายเป็นแรงกดดันที่เพิ่มเข้ามาสำหรับหุ้นไทย

“ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยต่อ หลังจากที่เงินเฟ้อเริ่มลดลงบ้างแล้ว ควรจะเก็บกระสุนไว้รองรับนโยบายรัฐบาลที่อาจกระตุ้นให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอนาคต”

 

ธปท. จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ กดดัชนี SET ลงได้อีก 1-2%

ด้าน สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยอาจเข้าสู่โหมดพักฐาน หลังจากที่ ธปท. ส่งสัญญาณออกมาว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งในปีนี้ หากเป็นเช่นนั้นจริงดัชนี SET อาจปรับตัวลดลงได้อีก 1-2% เพื่อทดสอบแนวรับบริเวณ 1,520-1,535 จุด

“ธปท. ค่อนข้างกังวลว่าเงินเฟ้อที่ลดลงอาจจะยังไม่ได้สะท้อนภาพที่แท้จริง เพราะการชะลอของเงินเฟ้ออาจเป็นเพราะฐานสูงเมื่อปีก่อน ขณะที่เงินเฟ้อในปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นราว 2%”

สำหรับการประชุมเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยของไทยจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ซึ่งระหว่างนี้ ธปท. คงจะติดตามในเรื่องของเงินเฟ้อและการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ส่วนผลงานที่ย่ำแย่ของหุ้นไทย สุนทรมองว่าเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

  1. หุ้นไทยเมื่อปีก่อนปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาด ทำให้ในปีนี้ไม่ได้ฟื้นตัวดีเหมือนกับตลาดอื่นที่ปีก่อนย่ำแย่ ขณะที่เงินลงทุนก็ไหลออกในปีนี้
  2. ความไม่ชัดเจนทางการเมือง

ในเชิงกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ กลยุทธ์ที่ให้ผลตอบแทนดีคือ Bottom Up หรือเลือกหุ้นจากปัจจัยเฉพาะตัว เช่น หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นในบางส่วน เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี และส่งออกบางสินค้า หรือหุ้นที่ได้อานิสงส์จากปรากฏการณ์เอลนีโญ อาทิ ถ่านหิน ทั้งนี้ ควรโฟกัสหุ้นที่ยังมีกำไรเติบโตและขยายตลาดเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตาม ควรจะถือเงินสดอย่างน้อย 30%

 

โบรกแนะถือเงินสด 50% ลุยหุ้นเทคโนโลยี

ส่วนผลกระทบจากการหยุดขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แต่ยังส่งสัญญาณว่าอาจจะกลับมาขึ้นได้อีก 1-2 ครั้ง ในมุมของ ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า ตัวเลข Dot Plot หรือคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ถูกปรับขึ้นอีก 0.5% เป็นตัวเลขที่มากกว่าที่คาดไว้ ทำให้ Bond Yield ยังคงอยู่ในระดับสูง และความกังวลต่อการเข้มงวดนโยบายทางการเงินของ Fed จะยังกดดันตลาดหุ้นต่อไป

“Bond Yield ที่สูงทำให้ตลาดหุ้นน่าสนใจน้อยลง โดยเฉพาะตลาดที่กำไรไม่ได้เพิ่มขึ้น ตลาดที่จะแข็งแกร่งจะต้องเห็นกำไรดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตลาดพัฒนาแล้ว ส่วนหุ้นไทยไม่น่าจะตอบโจทย์”

หุ้นไทยน่าจะยังอยู่นอกเรดาร์ของนักลงทุนต่างชาติต่อไป ทำให้บรรยากาศโดยรวมอาจจะซึมต่อไป ซึ่งยังไม่รวมถึงปัจจัยเรื่องการเมืองที่มีความไม่แน่นอนด้วย

“กลยุทธ์ตอนนี้ควรต่อรองราคา รอให้ราคาปรับลงในจุดที่ Risk Reward คุ้มค่า น่าจะปลอดภัยมากกว่า”

สำหรับพอร์ตลงทุนในช่วงนี้ ควรถือเงินสดอย่างน้อย 50% โดยพอร์ตลงทุนที่เน้นลงทุนในประเทศอาจจะแบ่งถือหุ้น 25% และพันธบัตรระยะยาว 25% แต่หากเป็นพอร์ตลงทุนที่กระจายไปต่างประเทศด้วย เราแนะนำให้ถือหุ้นไทย 0% หุ้นต่างประเทศ 25% และพันธบัตรระยะยาว 25%

“หากดูจากโมเมนตัมของกำไร คงจะต้องเน้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในฝั่งสหรัฐฯ หรือในฝั่งเอเชียควรจะเน้นลงทุนในหุ้นของเกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือแม้แต่เวียดนามที่เริ่มมีสัญญาณบวก”

ส่วนแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. อีก 0.25% อาจทำให้ดัชนี SET กรณีที่เลวร้ายที่สุดลดลงไปอยู่ที่ 1,350 จุด ส่วนกรณีที่ดีที่สุดอยู่ที่เพียง 1,560 จุด ส่วนกรณีฐานของปีนี้คือ 1,450 จุด ซึ่งต่ำกว่าระดับปัจจุบัน