ศบค.ปรับ Thailand Pass แห่เข้าไทย 2 แสนคน WHO ยกต้นแบบแก้โควิด


แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์

ศบค.เผยองค์การอนามัยโลกยกไทย ต้นแบบรับมือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (UHPR) ในเอเชีย ชี้ประสบความสำเร็จจาก 5 ปัจจัยสำคัญ พร้อมถอดบทเรียนให้ประเทศอื่นนำไปปรับใช้ เผยล่าสุดยอดป่วยใหม่ ป่วยหนัก เสียชีวิต และอัตราครองเตียง ลดลงหมด  ปลื้มหลังปรับระบบ Thailand Pass ใหม่ ยกเลิก Test & Go นักท่องเที่ยวแห่ลงทะเบียนเข้าไทยกว่า 2 แสนคน

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า

ประชุม UHPR ถอดบทเรียนจัดการโควิดในไทย

อนามัยโลกยกไทย ต้นแบบรับมือภาวะฉุกเฉินสาธารณสุข

ช่วงเช้าวันนี้ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้มีการสรุปผลการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Universal Health and Preparedness Review(UHPR) โดยมีการถอดบทเรียนความสำเร็จถึงการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย พบว่ามาจาก 5 ปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งได้แก่

1.มีการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงของประเทศ

2.ระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็งจากการที่ประเทศไทยเรามีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมีระบบปฐมภูมิมากว่า 40 ปี

3.มีการทำงานเชื่อมต่อกันในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และลงไปถึงในระดับชุมชน เนื่องจากเรามีอาสาสมัครด้านสาธารณสุข(อสม.) รวมทั้งภาคการศึกษาในแต่ละระดับในการดำเนินงาน

4.มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง

5.มีการใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล นวัตกรรม และการวิจัยเพื่อการจตัดสินใจต่างๆบนพื้นฐานของข้อมูล

นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย
นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกได้แจ้งว่า ยินดีที่จะสนับสนุนและทำงานร่วมกับประเทศไทย และจะมีการเตรียมแถลงประสบการณ์จากการประเมินโดย UHPR ในที่ประชุมอนามัยโลกที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ร่วมกับอีก 3 ประเทศที่เป็นตัวแทนของทวีปต่างๆ

“ในส่วนของประเทศไทยเป็นตัวแทนของทวีปเอเชียที่ได้รับการประเมินจาก UHPR ที่จะนำร่องในการทบทวน ปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้นในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ เพื่อนำไปปรับใช้ต่อไป” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

ตัวเลขผู้ป่วยโควิด ณ วันที่ 5 พ.ค.2565

ผู้ป่วยใหม่ ผู้ป่วยอาการหนัก และเสียชีวิตจากโควิด

ยอดป่วยใหม่ ป่วยหนัก เสียชีวิต อัตราครองเตียง ลดฮวบ

สำหรับสถานการณ์โควิดในบ้านเราวันนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลก คือมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการรายงานการตรวจด้วย RT-PCR มีจำนวน 9,790 ราย และรายงานจากการตรวจด้วย ATK จำนวน 8,728 ราย จะเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งจาก PCR และ ATK มีทิศทางที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับผู้ที่กำลังรักษาตัวอยู่ในขณะนี้มีจำนวน 101,281 คน โดยจำนวนกว่า 7 หมื่นคนอยู่ในโรงพยาบาลสนาม และมีการแยกกักรักษาตัวที่บ้าน และอีก 31,227 รายอยู่ในโรงพยาบาล โดยในจำนวนนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่จำนวน 1,638 ราย และต้องใส่ท่อช่วยหายใจอยู่จำนวน 776 ราย

“ทั้งนี้การที่มีการแอดมิทอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 31,227 คน มีจำนวนน้อยลง ทำให้อัตราการครองเตียงของผู้ป่วยที่เป็นผู้ป่วยปานกลางถึงอาการหนักลดลงเหลือแค่ 20.1%”

อัตราการครองเตียงระดับ2-3

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวต่อว่า ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ที่มีอาการหนัก และผู้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจจะเห็นว่ามีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ป่วยที่ตรวจแบบ PCR และต่ำกว่าหมื่นรายวันนี้เป็นวันที่ 4 แล้ว ตั้งแต่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ป่วยในในโรงพยาบาลที่เป็นผู้ป่วยอาการปานกลางถึงหนักลดลงเหลือเพียง 20.1% เท่านั้น จากก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ระดับ 25% มีทิศทางที่ลดลงเรื่อยๆ

ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบที่กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลใน 10 อันดับแรกจะเห็นว่า จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบค่อนข้างทรงตัว หรือน้อยลง โดยมีแค่ 2 จังหวัดที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้แก่อุดรธานีและขอนแก่น จำนวน 56 คนและ 51 คนตามลำดับ ส่วนจังหวัดอื่นๆใน 10 อันดับมีทิศทางลดลงเรื่อยๆ

ยอดผู้เสียชีวิต ณ วันที่ 5 พ.ค.2565

“ภาคอีสาน” ยังเสียชีวิตมากสุด

สำหรับรายละเอียดของผู้เสียชีวิตวันนี้ที่รายงานซึ่งเป็นการเสียชีวิตจากโควิดมีจำนวนทั้งสิ้น 54 คน และมีกลุ่ม 608 หรือผู้สูงอายุ และมีโรคเรื้อรังอยู่ 98% โดยมีไตวายเรื้อรังถึง 14 คน โรคอ้วน 7 คน โรคหลอดเลือดสมอง 7 คน หัวใจ 5 คน ภาวะติดเตียง 4 คนและหากแยกตามพื้นที่พบว่า ภาคอีสานมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 19 คน

ส่วนประวัติการได้รับวัคซีนของกลุ่มผู้เสียชีวิต 54 รายวันนี้ พบว่ามีถึง 61% ไม่ได้รับวัคซีนเลย หรือได้รับวัคซีนแค่ 1 เข็ม อีก 30% ได้วัคซีน 2 เข็ม และที่หลือได้ 3 เข็ม

สรุปผลการฉีดวัคซีนจนถึง 5 พ.ค.2565

สำหรับสรุปผลการฉีดวัคซีนวันนี้จากทั้งหมด 134 ล้านโดสตั้งแต่ฉีดวัคซีนมาตั้งแต่ 28 ก.พ. 2564 มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้วจำนวน 56.34 ล้านราย คิดเป็น 81.0% ของประชากร เข็มที่ 2 มีจำนวน 51.44 ล้านราย คิดเป็น 74.0% ของประชากร และเข็มที่ 3 มีจำนวน 26.38 ล้านราย คิดเป็น 37.9%ของประชากร

“เป็นภาพรวมของการฉีดทั่วประเทศ แต่ถ้ามาดูแยกเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการได้รับวัคซีน โดยกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 12.7 ล้านคน ได้รับเข็มที่ 1 ไปแล้ว 84.2% เข็มที่ 2 จำนวน 80.0% และเข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้นจำนวน 41.7% ทั้งนี้ยังคงต้องมีการรณรงค์ให้บุตรหลานพาผู้สูงอายุที่บ้านไปรับวัคซีนให้เพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายของเราจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นต้องมากกว่า 60% ขึ้นไป”

ยอดฉีดวัคซีนในเด็ก

จี้ฉีดวัคซีนกลุ่มเด็ก เลี่ยงเกิดภาวะ Long Covid

สำหรับผลการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กอายุ 5-11 ปี ซึ่งมีจำนวน 5.1 ล้านคน จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคที่เก็บข้อมูลมาตั้งแต่วันที่ 1-2 เมษายน 2565 จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 328,480 คน พบว่าเป็นผู้มีอายุ 0-19 ปี จำนวน 54,357 คน คิดเป็น 14% แต่ถ้ามาแยกดูตามรายละเอียดของช่วงอายุว่ามีการติดเชื้อกี่เปอร์เซ็นต์ก็พบว่า เด็กช่วง 0-6 ปีติดเชื้อประมาณ 6.6% อายุ 3-12 ปี ติดเชื้อประมาณ 3.76% และอายุ 13-19 ปี ติดเชื้อประมาณ 4%

ยอดฉีดในผู้สูงอายุและเด็ก

“การรรายงานการติดเชื้อในเด็กมีมาอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือต้องไปรับวัคซีน  ถึงแม้ว่าติดเชื้อไปแล้ว อาการจะไม่รุนแรง แต่มีโอกาสที่จะเกิด long covid ในเด็กได้ หรือภาวะมิสซีได้ โดยผลการฉีดวัคซีนในเด็กจากทั้งหมด 5.1 ล้านคน มีการฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 53.6% หรือกว่า 2.7 ล้านคน ฉีดเข็มที่ 2 ไปจำนวน 732,349 โดส หรือคิดเป็น 14.2%”

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวว่า จะเห็นว่าการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กเล็ก 5-11 ปี อัตราการฉีดครอบคลุมทั้งสองเข็มยังน้อยอยู่มาก ดังนั้นยังคงต้องเน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคก่อนเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคมนี้ ยังคงต้องขอความร่วมมือโรงเรียน สถานศึกษาให้เปิดเรียนแบบออนไซต์ให้ได้มากที่สุดภายใต้มาตรการ Thai Stop Covid 2 Plus ของกรมอนามัย

ส่วนบางโรงเรียนที่ยังให้นักเรียนตรวจ ATK ก่อนไปโรงเรียน อันนี้ไม่ได้เป็นข้อบังคับจากกระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงสาธารณสุขแต่อย่างใด ควรจะต้องมีการประเมินอาการ จะตรวจ ATK ก็ต่อเมื่อเด็กๆที่ไปโรงเรียนมีอาการทางเดินหายใจหรือไม่ ถ้ามีอาการในระบบทางเดินหายใจก็สามารถตรวจ ATK ที่บ้าน ถ้าผลตรวจเป็นบวกก็รักษาอยู่ที่บ้าน หรือในระบบการรักษาที่โรงพยาบาล ไม่ต้องไปโรงเรียน

“เลยเป็นที่มาว่าไม่ต้องตรวจ ATK ก่อนไปโรงเรียนทุกสัปดาห์ หรืออาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ที่ต้องเน้นย้ำคือต้องฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดทั้งเด็กเล็กและเด็กโต ซึ่งก็ต้องขอความร่วมมือผู้ปกครองพาเด็กมารับวัคซีนให้ครบโดสก่อนเปิดเทอมนี้ด้วย” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

ยอดอนุมัติเข้าประเทศผ่านไทยแลนด์พาส

ชี้ผ่อนคลาย Thailand Pass แห่เข้าไทยกว่า 2 แสนคน

ต่อข้อถามถึงการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา แพทย์หญิงสุมนีกล่าวว่า เมื่อเช้านี้ก็มีการรายงานในที่ประชุมของศบค.ชุดเล็ก ถึงจำนวนนักเดินทางที่เข้ามาในระบบ Thailand Pass ช่วงวันที่ 29 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2565 มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 213,958 คน ได้รับการอนุมัติแล้ว 202,878 คน

จะเห็นว่ายอดของการอนุมัติของผู้ที่เดินทางที่ได้รับอนุมัติคิดเป็น 94.8% ซึ่งมีความสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ในการพิจารณาในระบบ Thailand Pass จะมีแค่ 2 เรื่องเท่านั้น คือเรื่องการดูใบรับรองการได้รับวัคซีน กับการเช็กกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งการพิจารณาเรื่องนี้โดยระบบ Thailand Pass สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วจากระบบ AI ที่วางไว้ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน เป็นระบบเรียลไทม์ ซึ่งจะเร็วมาก

แต่ถ้าเป็นการยื่นเป็นเอกสารจะต้องถูกพิจารณาจากเจ้าหน้าที่กองด่านกรมควบคุมโรคที่สนามบิน ต้องใช้เวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมงในการอนุมัติ

“โดยสรุปจากการยกเลิก Test & Go และการผ่อนคลายมาตรการที่ตรวจเฉพาะการได้รับวัคซีนหรือการเช็กเรื่องกรมธรรม์ประกันชีวิตยังราบรื่นดี ไม่มีความล่าช้าแต่อย่างใด” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวในตอนท้าย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ