คนใหม่ทำเรื่องใหม่ แล้วคนเก่าล่ะ?

บทความนี้เขียนขึ้นจากที่ท่านประธานอาวุโสได้กล่าวในงานสัมมนาเครือฯ “หากคุณพัฒนาตัวเอง เครือฯ ก็จะพัฒนาคุณ”

คุณอาจจะเคยได้ยินว่าคนรุ่นใหม่ให้ทำเรื่องใหม่ แต่ทว่าคนรุ่นเก่าล่ะจะเป็นอย่างไร

เมื่อต้นปีมีโอกาสร่วมฟังวิสัยทัศน์ ที่ศูนย์ผู้นำ เขาใหญ่ รุ่นพี่หลายคนบอกว่าส่วนใหญ่ที่ไปล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริหารระดับสูงทั้งนั้น ทำให้วัยรุ่นชิคชิคอย่างผมทั้งเกร็งทั้งงง ทำตัวไม่ถูก แค่การแต่งตัวเข้าพบผู้ใหญ่นั้นก็ว่าแย่แล้ว T T แต่พอเข้าไปเจอกับตัวจริงๆ นั้น พบว่ายังมีวัยใกล้เคียงกันก็มากอยู่

วันนี้มาย้อนความ และใช้คอลัมน์นี้แสดงความคิดเห็นและมุมมอง เรื่องราวที่ได้เรียนรู้ฐานะน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าทำงานมาหมาดๆ แต่ละเรื่องที่ฟังเหล่านั้นเกิดคำถามในหัวมากมายทั้งที่พบคำตอบและบางส่วนจะกลับไปสอบถามหากมีโอกาส ทั้งนี้ทั้งนั้นได้จดบันทึกไว้หมดนะครับ เพราะหัวหน้าได้ส่งผมเข้าร่วมฟังเพื่อให้กลับไปเล่าสิ่งที่ได้รับในการประชุมแต่ละครั้งให้เพื่อน พี่ๆ ในหน่วยงานฟัง ไม่ได้ตั้งใจจะมาขิงใส่นะครับ

ครั้งนั้น ท่านประธานอาวุโสธนินท์ ได้ให้นโยบาย 4 เรื่องด้วยกัน คือ เรื่องการผนึกกำลัง การใช้คนรุ่นใหม่ทำเรื่องใหม่ ค่านิยม 6 ประการ และท่านกล่าวว่าซอฟต์แวร์เป็นเรื่องสำคัญ

ทั้ง 4 เรื่องนี้ผมขอทดไว้ในใจก่อนนะครับ หากมีเวลาจะนำมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง
ประเด็นของผมในวันนี้นั้นเกี่ยวข้องกับ “คนรุ่นใหม่” ก่อนนะครับ

9 มีนาคม อาคารทรูทาวเวอร์รัชดา ณ.ห้องถ่ายทอด สามภาษา ไทย อังกฤษ และจีน เนื่องจากระหว่างนี้มีสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 บริษัทจึงจัดในลักษณะการถ่ายทอดสดไปยัง 77 จุด 12 ประเทศทั่วโลก

ในเรื่องคนรุ่นใหม่นั้น ท่านประธานอาวุโสได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง อีกทั้งเปิดโอกาสให้ได้ทำสิ่งใหม่ ลองผิดลองถูก ให้อำนาจในการตัดสินใจทำงาน เพียงแต่หัวหน้าหรือผู้ที่ดูแลนั้น ห้ามครอบงำ แต่ให้ “ชี้แนะห้ามชี้นำ”

แต่ถึงกระนั้น…
“ไม่ใช่ว่าคนเก่าไม่มีความหมาย”
เป็นสิ่งที่แคลงใจมาตั้งแต่ที่เขาใหญ่ จนมาคลี่คลายในวันนี้ด้วยเรื่องของคนเก่าและใหม่นี่ล่ะครับ

“คนใหม่ทำเรื่องใหม่”
มีโอกาสเรียนรู้ลองถูกลองผิด หากผิดพลาดแล้วจะเป็นอย่างไร
“ทุกคนมีโอกาสผิดพลาด ไม่ต้องกลัวผิด แต่กลัวที่สุดคือผิดแล้วไม่รู้ กลัวอย่างเดียวคือทำผิดแล้วล้มละลาย”

ส่วนคนเก่าน่ะเหรอท่านไม่ได้ทิ้งหรือไม่ให้ความสำคัญอย่างที่ใครหลายคนตั้งคำถาม
ท่านมองว่าให้ “พัฒนาคนที่ทำดีอยู่แล้ว ให้ดีขึ้นอีก ประสบการณ์ที่ทำสำเร็จนั้นให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน”

เอาจริงๆ แล้วคนใหม่คือใคร รุ่นผมหรือป่าว
ท่านบอกว่า “คนใหม่ คือเด็กจบใหม่ กระดาษสีขาวจะใส่สีอะไรก็ได้เพราะไม่มีประสบการณ์”

เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงเต็มไปด้วยโอกาส ทั้งคนเก่าและใหม่
ในการบริหารคนเก่าและใหม่นั้นท่านใช้คำว่า “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น”
เกิดจากประสบการณ์ในการสร้างความสำเร็จเมื่อท่าน อายุ 21 ปี ถือได้ว่าเป็นเด็กรุ่นใหม่ในสมัยนั้น มีโอกาสทำเรื่องใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อย จึงไม่เคยมองว่า “อายุน้อยจะทำงานใหญ่ไม่ได้”
นั่นคือการสร้างคนเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ

ตัวอย่างการสร้างคนรุ่นใหม่ของท่านประธานอาวุโสในสมัยนั้น…
คุณอดิเรก ศรีประทักษ์ เมื่อครั้งเรียนจบทางด้านการบัญชี อายุ 24 ปี ถือว่าเป็นเด็กรุ่นใหม่ มีความทุ่มเท และรับผิดชอบสูง ตั้งใจทำงาน แม้ไม่มีประสบการณ์ดูแลการจัดการโรงงาน ท่านประธานอาวุโสได้ให้โอกาสเป็นผู้จัดการโรงงาน จนวันนี้สามารถบริหารบริษัทซีพีเอฟ ให้กลายเป็นบริษัทชั้นนำของโลกได้

คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ก็เช่นกัน ด้วยอายุเพียง 20 ปี ท่านประธานอาวุโสได้ให้มอบตำแหน่งจัดซื้อวัตถุดิบทั้งในและต่างประเทศแทน หลังจากนั้นไม่นานได้บริหารงานบริษัทซีพีออลล์ จำกัด มหาชน จนสำเร็จอย่างที่เห็นจนทุกวันนี้

คุณสุชาดา อิทธิจารุกุล ได้ทำธุรกิจจากที่ไม่มีประสบการณ์ แต่ได้เรียนรู้การบริหารการจัดการจากทีมต่างประเทศและต่อยอดการค้าส่งและพัฒนาจนเป็นแมคโครในปัจจุบัน

เมื่อ 29 ปีก่อนหน้านี้จากที่ซีพีไม่เคยมีประสบการณ์ในเทคโนโลยีโทรศัพท์พื้นฐาน ท่านประธานอาวุโสได้เลือกบริษัทไนเน็กซ์ (Nynex) เป็นผู้ร่วมทุน ซีพีเรียนรู้การบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น (เคเบิ้ลใยแก้ว) เมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น CEO ในการบริหารสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ลงทุนเพื่อการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานการโทรคมนาคมในประเทศ

ส่วน คุณสุภกิต เจียรวนนนท์ ก็เคยทำงานใน “เทเลคอมเอเชีย:ทีเอ” พร้อมกับ คุณศุภชัย จนเมื่อทีเอเริ่มทำธุรกิจเคเบิลทีวี คุณสุภกิตจึงย้ายมารับผิดชอบงานทางยูบีซีเคเบิลทีวี คุณสุภกิต จึงมากด้วยความรู้และประสบการณ์ ในสายงานที่เกี่ยวข้องกับอินฟอร์เมชันเทคโนโลยีมาโดยตลอด

คุณณรงค์ เจียรวนนท์ ทำธุรกิจเริ่มต้นจากไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย ท่านประธานอาวุโสได้เชิญ El Jansen มือขวาของ Sam Walton เจ้าของ Walmart มาช่วยปูพื้นฐานให้ โดยที่คุณณรงค์เริ่มจากการเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ เรียนรู้วัฒนธรรม ความสำเร็จของ Walmart จากนั้นนำมาต่อยอดธุรกิจโลตัส ไปเปิดตลาดที่ประเทศจีน

และนี่คือ 5 เคส ที่ท่านประธานอาวุโสได้ยกตัวอย่าง “เรื่องใหม่ให้คนรุ่นใหม่ทำ”

จากการที่ให้ “คนรุ่นใหม่ทำเรื่องใหม่” ในสมัยนั้น มาสู่ยุคแห่ง “คนรุ่นเก่าพัฒนาต่อยอดสิ่งที่ทำดีแล้วด้วยเทคโนโลยี” หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนจากรุ่นสู่รุ่นด้วยองค์ความรู้ประสบการณ์ในการทำธุรกิจ

มีหลายคำถามที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของซีพีถึงท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์
หลังจากนี้ผมจะนำทะยอยมาเล่ากันใหม่นะครับ ด้วยพื้นที่อันมีจำกัด ขอแปะไว้ก่อน จะกลับมาอีกครั้ง

รอบนี้ขอมาแนะนำตัวเองแบบหอมปากหอมคอเพียงเท่านี้ แล้วพบกันใหม่ครับพ่อแม่พี่น้อง ลุงป้าน้าอา เพื่อนผองน้องพี่ สวัสดีชาวซีพี

/me

ก็ผมไง #ทีมไอต้าว  #the Executor