อินเดียจ่อห้ามส่งออก “น้ำตาล ”ซ้ำรอย”ข้าว” ดันราคาตลาดโลก พุ่ง

เอลนีโญ ป่วนหนัก อินเดีย จ่อห้ามส่งออก “น้ำตาล” ยกเหตุผลสงวนใช้ในประเทศ ดันราคาน้ำตาลโลกพุ่ง ซ้ำรอยงดส่งออกข้าว ผู้ส่งออก มองส่งผลดีไทยส่งออกน้ำตาลเพิ่ม ด้านกรมการค้าภายในจับตาอาจส่งผลต่อต้นทุนสินค้าทางอ้อม

ปรากฏการเอลนีโญ ส่งผลต่อปริมาณฝนทำให้เกิดภัยแล้งขึ้นในหลายประเทศกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้ต้องใช้นโยบายจำกัดหรือห้ามส่งออกอาหารหรือพืชบางรายการ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ ล่าสุดรัฐบาลอินเดียเตรียมประกาศห้ามส่งออกน้ำตาลฤดูกาลหน้า โดยห้ามส่งออกตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป เพื่อสงวนใช้ในประเทศให้เพียงพอเนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง ซึ่งการระงับการส่งออกน้ำตาลของอินเดียถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ปัจจุบันราคาน้ำตาลโลกถูกกำหนดโดย 3 ยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออก คือ บราซิล ไทย และอินเดีย หากอินเดียดำเนินมาตรการข้างต้นจะส่งผลกระทบให้ราคาน้ำตาลโลกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

จากข้อมูลของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) ระบุ ว่า ไทยส่งออกน้ำตาลทรายในเดือน ก.ค.66 ติดลบ 30.3 % เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยหดตัวในตลาดเกาหลีใต้ กัมพูชา ไต้หวัน อินโดนีเซียและมาเลเซีย  แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ ลาว จีน สหรัฐและเวียดนาม ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 7 เดือนแรกปี 66 ขยายตัว 17.7 % ทั้งนี้สรท.คาดการณ์เป้าหมายการส่งออกน้ำตาลในปี 66 ขยายตัวที่ 15 %

อินเดียจ่อห้ามส่งออก “น้ำตาล ”ซ้ำรอย"ข้าว" ดันราคาตลาดโลก พุ่ง

นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. แสดงความเห็นต่อกรณีที่อินเดียจำกัดการส่งออกข้าวและน้ำตาล เป็นโอกาสที่ดีของไทยในการส่งออกสินค้าสินค้าเกษตร แต่อย่างไรก็ตามไทยเองก็กำลังประสบภาวะแล้งหรือเอลนีโญ่จนอาจจะทำให้อุปทานไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ รวมถึงการส่งออก จึงคาดหวังว่า หลังจากที่เราได้รัฐบาลใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์จะลงมาช่วยดูแลและผลักดันสินค้าเกษตรไทย

ด้าน“รณรงค์ พูลพิพัฒน์”  อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า  อินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก และด้วยขนาดประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน จึงมีการบริโภคภายในประเทศมากที่สุดในโลก แต่ปีนี้ประสบกับปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศร้อนจัดในช่วงครึ่งปีแรก ต่อเนื่องด้วยภาวะฝนขาดช่วงในฤดูมรสุมโดยในเขตปลูกอ้อยหลักในรัฐ Maharashtra ทางตะวันตกและรัฐ Karnataka ทางตอนใต้ ซึ่งมีผลผลิตน้ำตาลของสองรัฐรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมดของอินเดีย จากภาวะปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 50 % จึงส่งผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลของฤดูกาลผลิตปี 2566/67 ลดลงเหลือ 31.7 ล้านตัน หรือลดลง 3.3% และอาจส่งผลต่อการเพาะปลูกในฤดูกาลผลิตปี 2567/68

ปี 2565/66 รัฐบาลอินเดียได้อนุญาตให้ส่งออกน้ำตาล 6.1 ล้านตัน อย่างไรก็ดี ในเดือนก.ค. 2566 อินเดียประสบสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อค้าปลีกพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 เดือน อยู่ที่ 7.44% และอัตราเงินเฟ้อด้านอาหารอยู่ที่ 11.5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 3 ปี และคาดว่าปริมาณน้ำตาลของอินเดียอาจจะไม่เพียงพอที่จะจัดสรรโควตาการส่งออกสำหรับฤดูกาลหน้า (เดือนต.ค. 2566)

สำหรับประเทศไทย ปีการผลิต 2565/66 ประเทศไทยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 93.88 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.97 % จากปี 2564/65   และมีผลผลิตน้ำตาลปี 2565/66 ประมาณ 11.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้น8.88 % จากปี 2564/2565  โดยมีปริมาณการส่งออกน้ำตาลในช่วงมกราคม – กรกฎาคม 2566 ประมาณ 5.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2.4%

“การที่อินเดียห้ามส่งออกน้ำตาล ย่อมส่งผลให้อุปทานน้ำตาลโลกลดลง และราคาน้ำตาลโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ”นายรณรงค์ กล่าว

ขณะที่กรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นหน่วยงานดูราคาสินค้า ได้ติดตามข่าวและสถานการณ์ราคาน้ำตาลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผล กระทบต่อราคาน้ำตาลทราย บริโภคภายในประเทศ รวมทั้งราคาสินค้าที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบในการผลิต

โดยขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายในประเทศ เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายในประเทศยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังอยู่ที่ 24-25 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

การห้ามการส่งออกน้ำตาลของอินเดีย ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกดีดตัวสูงขึ้น เหมือนเช่นกรณีระงับการส่งออกข้าวส่งผลตลาดข้าวโลกปรับราคาสูงขึ้น

ซึ่งในกรณีการงดส่งออกน้ำตาลหากมองในแง่ดีก็ทำให้ไทยสามารถที่จะส่งออกน้ำตาลได้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก แต่ในอีกด้านประเทศไทยเองก็ยังต้องเจอกับปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งทำให้เกิดภัยแล้งย่อมส่งผลต่อปริมาณการผลิตอ้อยในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลกแต่ก็ยังระวังปัญหาผลผลิตที่ไม่เพียง และราคาขายปลีกในประเทศที่อาจปรับขึ้นส่งต่อผู้บริโภคภายในประเทศด้วยเพราะน้ำตาลทรายถือเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าสำคัญหลายรายการ อาจผลกระทบทำให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นได้

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ