“CEO ประสิทธิ์” โชว์วิสัยทัศน์ Exclusive Talk : การพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน นศ. สถาบันพระปกเกล้า

CEO ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ เป็นวิทยากรในการเรียนการสอนของนักศึกษา สถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรวุฒิบัตรการกำกับดูแลกิจการสำหรับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงขององค์กรกำกับดูแล (Regulators) รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน รุ่นที่ 25 พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ ในหัวข้อ “Exclusive Talk : การพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน” ณ สโมสรราชพฤกษ์ กรุงเทพฯ
CEO ประสิทธิ์ ฉายภาพธุรกิจ CPF ว่า บริษัทฯ ผลิตสินค้าเนื้อสัตว์ อาหาร อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน (Ready to Eat) อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง (Ready to Cook) ส่งออกสินค้าอาหารแปรรูป เป้าหมาย คือ อยากให้ทุกคนบนโลกมีอายุเกิน 100 ปี เราคิดว่าต้องเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งเรื่องสุขภาพให้บุคคลต่างๆ ที่เราให้บริการอยู่และลูกค้า ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ คิดสร้างสรรค์กว้างขึ้น หานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอาหาร มีสินค้าที่ทำออกมาแล้วดีต่อสุขภาพกาย ทานแล้วอร่อย ดีต่อสุขภาพใจเป็นอาหารที่ยั่งยืน (Sustainable) ไม่ได้มาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการทำลายป่า ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบัน CPF ลงทุนใน 17 ประเทศ และส่งออก 40 ประเทศ ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้ 5 แสนล้านบาท และปีนี้คาดว่าแนวโน้มดีขึ้น
สำหรับกลยุทธ์ความยั่งยืนของ CPF เป็นการนำแนวคิดของท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่มาจากประสบการณ์การทำงาน ซึ่งท่านมองว่าจะให้องค์กรของเราอยู่ยั่งยืนได้ต้องคิดอย่างไร มาสู่ปรัชญา 3 ประโยชน์ที่เครือซีพียึดปฏิบัติ คือ ทุกๆ ที่ที่เราไป ต้องไปสร้างคุณค่าเพิ่มให้ประเทศนั้นหรือไม่ ถ้าสร้างคุณค่าเพิ่ม จะยั่งยืนและทำให้สังคมดีขึ้นหรือไม่ สิ่งที่ตามมา คือ องค์กรก็มีโอกาสประสบความสำเร็จ CPF ได้นำหลักปรัชญานี้ มากำหนดเป็นกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่
พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่างการดำเนินธุรกิจ ภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลัก ด้านอาหารมั่นคง มุ่งบูรณาการการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) 17 ประการ ด้านสังคมพึ่งตน บริษัทฯ ให้ความสำคัญเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” เป็นอีกหนึ่งเรื่องหลักของการทำธุรกิจ เนื่องจากเราเป็น Export Company ได้เชิญแรงงานจากพม่า กัมพูชา มาช่วยทำงาน ซึ่งนอกจากการดูแลเรื่องที่พักให้กับแรงงานแล้ว สิ่งที่ทำเพิ่มคือเราจะรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าตั๋ว ค่าที่พัก ค่าตรวจร่างกาย ค่าพาสพอร์ต ยกเว้นสิ่งเดียวที่แรงงานต้องจ่ายเอง คือ ค่าวีซ่า ส่วนด้านดินน้ำป่าคงอยู่ CPF มุ่งมั่นมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
CEO กล่าวถึงการขับเคลื่อนความยั่งยืนของ CPF มอง 3 เรื่องหลัก คือ 1.สร้างความยั่งยืนในซัพพลาย เชน 2.การจัดการพลังงานเพื่อความยั่งยืน และ 3.การสนับสนุนแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม
การสร้างความยั่งยืนในซัพพลาย เชน เช่น เรื่องข้าวโพด เรายืนยันได้ว่าข้าวโพดทั้งหมดที่ซื้อในไทย ปีหนึ่งมีมูลค่า 26,000 ล้านบาท ทุกพื้นที่จะส่งคนไปตรวจและมอนิเตอร์หมด วันนี้เรามีแหล่งซัพพลายซื้อข้าวโพด 2 ล้านไร่ ทุกแหล่งต้องอยู่บนกฎเกณฑ์ที่เรากำหนดไว้ คือ ถ้าไม่อยู่บนกฎเกณฑ์จะไม่ซื้อเลย เรื่องที่ 2. ที่เป็นความภาคภูมิใจของบริษัท คือ ช่วงวิกฤตโควิด เรามีซัพพลายเชน 15,000 ราย เป็น SME 6,000 ราย บริษัทให้ความช่วยเหลือโดยจัดโครงการ Faster Payment ปรับเครดิตเทอมชำระค่าสินค้า จากเดิมจ่ายภายใน 60 วัน ลดเหลือ 30 วัน ช่วยให้สภาพคล่องทางการเงินของ SME ดีขึ้นและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งเราจะหยุดโครงการนี้หลังจากดำเนินการครบ 2 ปี และเปลี่ยนโครงการโดยร่วมมือกับ ธ.กรุงเทพฯ ส่งเสริมซัพพลาย เชน ให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ ส่วนในปี 2566 จะมีโครงการให้เอ็นจิเนียริ่งซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 400 คน ดูแลโรงงานทั้งหมด จะจัดสรรมา 10 คน ไปช่วย SME เป็นเหมือนที่ปรึกษา
ในส่วนของการจัดการพลังงานเพื่อความยั่งยืน CPF นำเทคโนโลยีมาใช้ ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล หรือพลังงานไฟฟ้าที่ต้องซื้อเข้ามา และเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน 27% ของพลังงานทั้งหมด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 575,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และปลายปี 2565 บริษัทฯ จะประกาศว่าเราเป็น Coal Free Company ไม่ใช้ถ่านหินเลย ซึ่งเรากำลังปรับจากการใช้ถ่านหินมาเป็นพลังงานชีวมวล นอกจากนี้ ยังนำองค์ความรู้มาใช้ในฟาร์มสุกร ทำให้ขี้หมูในฟาร์มไม่ปล่อยก๊าซมีเทน และยังเปลี่ยนของเสียไปเป็นพลังงานใช้ในฟาร์ม เป็นกรีนฟาร์มที่ไม่ใช่แปลว่าฟาร์มสีเขียวๆ แต่แปลว่าฟาร์มที่ไม่มีกลิ่นเหม็น เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราต้องคิดเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีก เช่นเดียวเรื่องการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม CEO ประสิทธิ์ เล่าว่า มักจะถูกตั้งคำถามบ่อยๆ ว่า การทำเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) มีการบริหารจัดการอย่างไร ก็ต้องมอง 2 เรื่องคือ เรื่องสิทธิมนุษยชน เราจะอยู่รอดได้ในการทำธุรกิจ ก็ต้องไม่เอาเปรียบแรงงาน ถ้าไปเอาเปรียบเค้าและดูแลไม่ดี เราจะยั่งยืนได้อย่างไร อีกประเด็นคือ การทำเรื่องสิ่งแวดล้อมทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในอดีตอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้
สำหรับ “Exclusive Talk : การพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน” มีผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดำเนินงานด้านความยั่งยืน ได้แก่ คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดร.ศรุดา ศิริภัทรปรีชา กรรมการบริหารและผู้จัดการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน บมจ.ฟอร์จูน พาร์ค อินดัสตรี้ และ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่ง เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ทุกวันนี้ บริษัทจดทะเบียนทุกขนาด มาถึงจุดที่เรียกว่านำความยั่งยืนไปใช้ในการทำงานแล้ว และขอชื่นชม CPF ที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืน อย่างที่คุณประสิทธิ์ได้กล่าวถึงปรัชญา 3 ประโยชน์ของท่านประธานอาวุโสฯ เครือซีพี ที่นอกจากพูดถึงองค์กรแล้ว ยังต้องมองสังคมและประเทศด้วย
Cr.PR CPF