ซีอีโอเครือซีพี ‘ศุภชัย เจียรวนนท์’ ถอดบทเรียนสำคัญที่ท้าทายโลก ชี้ ‘คนรุ่นใหม่’ คือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนโลกสู่ยุคดิจิทัล 5.0 ‘ความรักและความเมตตา’ เป็นเข็มทิศนำทางท่ามกลางความแปรปรวนรอบด้าน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ บรรยายพิเศษหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง “TEPCIAN รุ่นที่ 2” จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ณ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมีคุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานหลักสูตร TEPCIAN (เทพเซียน) และผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรฟังบรรยาย

ประเด็นความท้าทายที่โลกต้องเผชิญ

คุณศุภชัย กล่าวว่า ประเด็นความท้าทายที่เป็นวาระสำคัญระดับโลกที่จะต้องจับตามองก็คือ  การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุน (Inclusive Capital) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลก  ซึ่งแม้กระทั่งประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ก็ยังประสบปัญหานี้ โดยได้ยกตัวอย่างลอสแองเจลิสซึ่งมีผู้ที่ไร้บ้าน (Homeless) มากกว่าแสนคน เป็นปัญหาใหญ่ร่วมกันของโลกที่จะต้องได้รับการแก้ไข

ความท้าทายด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation)  โดยได้มีการพัฒนาทุอย่างให้อัจฉริยะ (Smart) ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งไม่เพียงเมือง โรงงาน ฟาร์ม บ้านอัจฉริยะเท่านั้น แต่มนุษย์ก็เป็นหนึ่งสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านความคิด ความทรงจำของมนุษย์ เมื่อมีการพัฒนาให้มีความอัจฉริยะซึ่งต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน การบริโภคพลังงานไฟฟ้าของระบบเศรษฐกิจจึงเติบโตอย่างรวดเร็ว และยิ่งเกิด Digital Transformation เร็วมากขึ้นเท่าใดการบริโภคพลังงานยิ่งขยายตัวมากขึ้นเท่านั้น

ซีอีโอเครือซีพี ได้ให้ข้อมูลเพิ่มถึงอีกประเด็นความท้าทายที่โลกจับตามองคือ การสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งนี้เนื่องจาก ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของโลกแปรปรวน มีความแห้งแล้งมากขึ้น ในขณะที่ความอุดมสมบูรณ์ลดน้อยลงไป ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตร แหล่งที่มาของอาหารลดลงถึง 4% ภายในปี 2030  และจะกระทบไปถึงระบบนิเวศสัตว์น้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ชายฝั่งหรือแนวปะการัง คาดว่าพันธุ์สัตว์น้ำจะสูญหายไปถึง 10% อย่างไรก็ตามเป็นคำถามที่ทั่วโลกจะต้องร่วมกันหาคำตอบ และหาแนวทางแก้ไข

ความท้าทายในด้านสุขภาพ เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ จะเห็นได้จากกรณีโควิด- 19 ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชน ซึ่งในอนาคตจะต้องเตรียมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ในขณะที่โลกของเราอยู่ในสภาวะของที่เรียกว่า  Over Populated คือ การมีจำนวนประชากรเพิ่มสูงมากขึ้น ซี่งความท้าทายต่อไปก็คือ  การดูแลในด้านสุขภาวะ และการที่จะเอาโรงพยาบาลหรือเอาหมอไปอยู่ที่บ้านซึ่งต้องอาศัยเทค โนลียีเข้าไปเป็นตัวช่วยให้เกิดบขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายทางด้านการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ โดยคุณศุภชัยได้ กล่าวถึง ‘การปฏิรูปการศึกษา’ (Education Reform) จาก 2.0 ให้เป็น 4.0 หรือ 5.0 ด้วยแนวคิด Child Centric บทบาทของคุณครูต้องเป็น Facilitator และมีทักษะ Child Psychology มอบความรัก สร้างความมั่นใจ ให้เด็กมีบทบาท เปิดโอกาสในการแสดงความสามารถ เด็กทุกคนควรมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม มีคอมพิวเตอร์เพื่อเปิดโลกทัศน์ เด็กควรมีโอกาสตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล และพัฒนาปรับปรุง (Action Learning Base)

เทคโนโลยีกับความยั่งยืน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

คุณศุภชัย กล่าวถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่จากเดิมขับเคลื่อนด้วยอาหาร เกษตร คือ การทำฟาร์ม   ถัดมาเป็นยุคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานน้ำมัน และพัฒนาไปสู่ยุค Trade เข้าสู่ยุค Globalization ซึ่งขับเคลื่อนด้วยทุน และในยุค 4.0 เป็นยุคที่น้ำมันเปลี่ยนสภาพมาเป็นข้อมูล ใครมีข้อมูลมากที่สุด คนนั้นชนะ

ถัดมาเป็นยุค 5.0  ซึ่งมีเทคโนโลยีเป็น Asset ใหม่ โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะข้อมูล แต่รวมถึงเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น ไบโอเทคโนโลยี ดิจิทัลเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยี สเปซเทคโนโลยี  เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีเอไอ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของโลก ดังนั้น ในยุคของเทคโนโลยี การที่จะเป็นผู้นำในยุค 5.0 วัดกันที่ใครเป็นผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินที่สำคัญคือ เทคโนโลยี มากที่สุด ด้วยการแข่งกันที่ไอพี ประเทศใดมีการจดไอพีมากที่สุด ประเทศนั้นมีความเจริญสูงสุด ซึ่งเกาหลีใต้ สิงคโปร์ก็ใช้ตัวชี้วัดนี้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ คุณศุภชัย ยังได้พูดถึงประเด็นด้านความยั่งยืน ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะการเติบโตด้วยเทคโนโลยี หรือ Digitalization หรือ Digital transformation เป็นตัวเร่งกระบวนการบริโภคทรัพยากรของโลกทั้งหมด ตลอดจนมีการสร้างของเสียออกมาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ซึ่งในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน กระบวนการบริโภคทรัพยากรของโลก รวมทั้งในกระบวนการการบริโภคที่ผลิตขยะอันมหาศาลให้แก่โลกและได้สร้างให้เกิดมลพิษโดยไม่รู้ตัว ดังนี้ จึงเป็นยุคที่ต้องดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะต้องมาพร้อม ๆ กับการสร้างนวัตกรรม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล  ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

คุณศุภชัยกล่าวอีกว่า  การเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องมาพร้อมกับเรื่องของความยั่งยืน  โดยเครือฯ มีนโยบายให้ทุกกลุ่มธุรกิจทั่วโลกลงมือทำอย่างเร่งด่วน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutral ภายในปี 2030  และการบรรลุเป้าหมาย Zero Carbon และ Zero Waste ภายในปี 2050  แม้จะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่เครือซีพีต้องทำให้สำเร็จ

“เครือฯ ถือเป็นองค์กรเอกชนลำดับต้น ๆ ที่วางเป้าหมายความยั่งยืนที่ชัดเจน และดำเนินงานตามแผนอย่างเป็นรูปธรรม จนทำให้ในปีที่ผ่านมาเครือซีพีได้รับคัดเลือกติดอันดับผู้นำองค์กรยั่งยืนระดับโลก UNGC ระดับ LEAD  เราตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 10 ปีบริษัทจะอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกในด้านธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็น 1 ใน 10 ของโลกด้านความยั่งยืนด้วย เพราะเราเชื่อบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยการมีวัตถุประสงค์ที่ดีต่อส่วนรวม จะเป็นองค์กรที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง”

คุณศุภชัย ยังได้กล่าวถึงพลังของ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การลงทุนกับคน (Human Capital) จึงเป็นการสร้างมูลค่าที่สร้างสรรค์ไปถึงสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนของเศรษฐกิจ

เทคโนโลยีและข้อมูลเป็นคลังสมบัติล้ำค่า

ปัจจุบัน ‘เทคโนโลยีและข้อมูล’ เป็นคลังสมบัติล้ำค่ายิ่งกว่าน้ำมันหรือทอง คุณศุภชัยให้ความเห็นว่า ภาครัฐสามารถสนับสนุนการกำกับระบบนิเวศของประเทศให้แข่งขันได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานและวางนโยบายอย่างชัดเจน สนับสนุนให้เอกชนเปิดรับความท้าทายและเตรียมความพร้อมสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก ภาครัฐและเอกชนผนึกกำลังพัฒนาประเทศให้เป็น Tech Hub ก้าวเข้าสู่ยุค 5.0 ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้

พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่าง การส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในประเทศไทย บริหารจัดการพื้นที่เขตอีอีซีให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ระดับเอเชีย หรืออย่างน้อยใน South East Asia เพราะประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียน มีศักยภาพในการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา หากวางเงื่อนไขการลงทุนดีจะเปิดการลงทุนจาก Start Up และพัฒนาต่อไปเป็น Trade Hub และ Financial Hub, Startup Hub รวมถึง R&D Hub ได้ ซึ่งก็หมายความว่าจะสามารถสร้างอาชีพ และ สร้างภาษีให้แก่ประเทศไทยอีกมากมาย

เครือซีพีในฐานะภาคเอกชนที่ทำธุรกิจในประเทศไทยกว่า 100 ปี ได้ทรานส์ฟอร์มสู่องค์กร 5.0 รับการขับเคลื่อนในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่องของ ‘ข้อมูล’ ในโลกดิจิทัลจะเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เทคโนโลยีดิจิทัลจะไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่การออกแบบ กระบวนการผลิต ตลอดจนการขายและขนส่ง ในขณะเดียวกันจะต้องปรับตัวเข้าสู่ยุค O2O (Online to Offline)  และมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะการลงทุนที่นำไปสู่ศักยภาพใหม่ เช่น โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การผลักดันด้าน Health Care สร้างนวัตกรรมใหม่ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศให้มีคุณภาพดีขึ้น มีมูลค่าสูงขึ้น

คุณศุภชัย เจียรวนนท์  ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ ในโลกคู่ขนาน และเศรษฐกิจคู่ขนานที่กำลังจะเกิด เป็นโอกาสของพวกเราทุกคนและเป็นวิกฤตด้วย พฤติกรรมใหม่ของคนรุ่นใหม่จะไม่มีวันเหมือนเดิม ต้องปรับตัว ดังนั้นโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าอย่างนั้นต้องไม่ประมาท ไม่ใช่กลัว แต่ไม่ประมาท เป็นสิ่งที่คุณศุภชัยเชื่อว่า เราสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายได้ โดยจินตนาการ ความรัก ความเมตตา ที่จะเป็นเข็มทิศที่นำทางให้เราสามารถก้าวสู่โลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้”