เครือซีพี ร่วมกับ แอนโทนี-ปิยชนม์ ยุวทูต SEAMEO เข้าพบรัฐบาล หารือแนวทางการขับเคลื่อนพลังเยาวชนไทย ร่วมมุ่งแก้ปัญหา PM 2.5

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ นำโดย คุณพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และดร.นุกูล พู่พันธ์ จากสำนักประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาอาวุโส บริษัทดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับ แอนโทนี-ปิยชนม์ ภุมวิภาชน์ ยุวทูต SEAMEO องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าพบ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ในการเป็นประธานการประชุมนำเสนอ “เชียงรายโมเดล” สู่การแก้ปัญหา PM 2.5 จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ครั้งที่ 1/2566 เพื่อหารือแนวทางร่วมกันในการขับเคลื่อนพลังเยาวชนไทย สู่การแก้ปัญหา PM 2.5 และแนวทางการแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างเร่งด่วน โดยมี นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เข้าร่วมด้วย ณ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล


ด้าน คุณพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า “ในช่วงที่ผ่านมา เครือซีพีได้ผนึกกำลังกับ สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ คณะครูและนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โรงเรียนบ้านเวียงแก้ว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ดำเนินโครงการค่ายผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม ENVI camp For young talent : LESS is more l Carbon credit ภายใต้หลักสูตร Sustainable Leadership Development Program : SLDP โดยมีเยาวชนต้นแบบอย่าง แอนโทนี-ปิยชนม์ ร่วมให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนภาคเหนือ เล็งเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียนรู้และมีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบสาระบันเทิงและสอดแทรกองค์ความรู้ โดยตั้งเป้าหมายขยายโครงการไปสู่โรงเรียนทุกโรงเรียน มุ่งหวังการสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนพลังของเยาวชนไทยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”


ขณะที่ นายปิยชนม์ ภุมวิภาชน์ ยุวทูต SEAMEO องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ที่ต้องนำเข้ามติ ครม. อย่างเร่งด่วน โดยการแก้ปัญหาระยะสั้นภายใน 4 เดือน ขออนุมัติให้มีฝนหลวงเพื่อสร้างความชื้นสัมพันธ์ 80% ในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดละอองฝนภายในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2567 เพื่อบรรเทาและป้องกันการเกิดไฟป่า และชะล้างละอองฝุ่น PM2.5 ให้เบาบางลงจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะที่ 2 ขอให้รัฐบาลประสานงานสู่ความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการร่วมกันปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้นในพื้นที่ จ.เชียงราย และภาคเหนือ ผลักดันสู่เชียงรายโมเดล (Chiang Rai Green Energy City) และมุ่งเน้นการให้ความสำคัญในการสร้างผู้นำเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังได้นำเสนอให้รัฐบาลนำโมเดลที่แก้ไขปัญหาได้สำเร็จแล้ว เช่น เชียงรายโมเดล ดอยอินทรีย์โมเดล สบขุ่นโมเดล ไปการขยายผลใน จ.เชียงราย และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือต่อไป