ซีพีน่าน ร่วมกับ เกษตรกรบ้านยอดดอยวัฒนา จ.น่าน สร้างฝายอนุรักษ์แหล่งน้ำชุมชน ฟื้นฟูระบบน้ำเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ร่วมกับชาวบ้านยอดดอยวัฒนา หน่วยจัดการต้นน้ำหลักลาย โรงเรียนบ้านยอดดอยวัฒนา จัดกิจกรรมสร้างฝายอนุรักษ์ “น้ำคืนชีวิต” บ้านยอดดอยวัฒนา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน พร้อมเชิญชวนเพื่อนพนักงานในเครือฯ ร่วมกิจกรรม เพื่ออนุรักษ์แหล่งน้ำในพื้นที่การเกษตร สร้างและเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำของชุมชน สำหรับรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก รวมถึงเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ ณ บ้านยอดดอยวัฒนา ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน

คุณบัญชา โชติกำจร ผู้อำนวยการสำนักงานด้านความความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า “ชุมชนบ้านยอดดอยวัฒนา ประสบปัญหาเรื่องแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง บางปีก็ประสบปัญหาเกือบทั้งปี จึงเป็นที่มากิจกรรมในครั้งนี้ โดยเป็นการสร้างฝายอนุรักษ์แหล่งน้ำของชุมชนครั้งแรก และมีแผนจะสร้างฝายอย่างต่อเนื่องอีก 5 ฝาย ซึ่งสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน จ.น่าน มุ่งเน้นดำเนินงานในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในมิติต่าง ๆ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง”

ด้าน นายจรัส พนะสัน ผู้ใหญ่บ้านบ้านยอดดอยวัฒนา เปิดเผยว่า “การสร้างฝายอนุรักษ์แหล่งน้ำในครั้งนี้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งน้ำในพื้นที่การเกษตร ชุมชนมีพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวดินบริเวณฝาย และเป็นพื้นที่รองรับปริมาณน้ำที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก ส่งผลให้ชุมชนมีแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค บริโภค และลดผลกระทบจากน้ำหลาก รวมถึงยังเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับสิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ สิ่งมีชีวิต และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพด้วย ส่วนฝายที่สร้างคือ ‘ฝายแกนดินซีเมนต์’ เป็นวิธีการสร้างฝายที่ได้รับความนิยมจากชุมชน ใช้ดินบริเวณฝายเป็นวัสดุหลัก สร้างง่ายไม่ซับซ้อน เสร็จเร็ว แข็งแรงทนทาน บำรุงรักษาง่าย ไม่มีโครงสร้างเหล็กเป็นส่วนประกอบ กลมกลืนกับธรรมชาติ”


ป่าชุมชนบ้านยอดดอยวัฒนา เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันดูแลรักษา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งป้องกันไฟป่า ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า รวมถึงการส่งมอบคืนพื้นที่ทำกินให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ของหมู่บ้าน รวมกว่า 500 ไร่ ซึ่งอยู่ในระหว่างการขอขึ้นทะเบียนป่าไม้ชุมชน โดยชุมชนได้กำหนดกติกาในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้มีการใช้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ของป่าสู่ลูกหลานต่อไป