นายสัตวแพทย์สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ผู้บริหารซีพี ผู้สร้างคุณาปการแก่อุตสาหกรรมของโลก

อีกหนึ่งผู้บริหารที่ถือเป็นตำนานการบุกเบิกของซีพีที่ชวนชาวซีพีรับรู้คือ นายสัตวแพทย์สุจินต์ ธรรมศาสตร์ หรือ คุณหมอสุจินต์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ

ครั้งหนึ่งคุณหมอสุจินต์ เคยเล่าให้ “วารสารบัวบาน” ฟังว่าคุณหมอมาจากครอบครัวชาวนา ผ่านความยากลำบากของชีวิตวัยเด็กในจังหวัดเพชรบุรีสัมผัสความด้อยโอกาสของเด็กบ้านนอกที่ต้องอาศัยเรียนในโรงเรียนวัด แต่สามารถใช้ความขยัน มุ่งมั่น อดทน ฝ่าฟันอุปสรรคนานาประการ กระทั่งได้เข้าเรียนเป็น นิสิตคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมดังตั้งใจ หลังจบสัตวแพทย์ศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วยเกียรตินิยมในปี 2521 (KU  32) ก็มาสมัครงานกับซีพี (ตอนที่เรียนเคยมาฝึกงานกับฟาร์มซีพี ที่ จ.นครปฐม )

คุณหมอสนใจและชอบงานด้านวิจัยงานวิชาการมากกว่างานขาย ในที่สุดได้มาทำงานที่บริษัทกรุงเทพอาหารสัตว์อยู่กับ ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนกุล (ดร.หลิน) ปูชนียบุคคลของวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของโลก

คุณหมอสุจินต์ ร่วมแสดงยินดี กับ ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล ที่ได้รับ ปริญญาบัตรวิทยาศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เมื่อปี 2551

ก่อนที่จะลงในรายละเอียดของเรื่องราวต่าง ๆ ที่อุตสาหกรรมกุ้งต้องเผชิญ ผมขอกล่าวถึงบุคคลสำคัญในวงการเพาะเลี้ยงกุ้งของโลกก่อน “ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล”  รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของเราอีกท่านหนึ่ง ที่ได้รับ ปริญญาบัตรวิทยาศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เมื่อปี 2551ท่านเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์มหาศาลต่อประเทศไทยและต่อวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของโลกผมเองเป็นผู้นำสิ่งที่ ดร.ชิงชัย วางวิสัยทัศน์และแนวทางบริหารจัดการมาลงมือปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม” คุณหมอสุจินต์ กล่าว

ในช่วงแรกที่เข้ามาทำงานทำด้านวิจัยสูตรอาหารสุนัข อาหารแมวและอาหารสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ โดยมี ดร.หลิน ซึ่งคุณหมอถือเป็นครูที่ประสิทธิประศาสตร์ความรู้ให้คุณหมอมาตลอดเป็นทั้งเจ้านายและที่ปรึกษา

คุณหมอเล่าว่ากว่าจะเกิดเป็นกลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของซีพีเป็นช่วงที่ทีมงานกำลังเริ่มเห็นแนวทางและความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ แต่เป็นช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศกำลังมีปัญหาทำให้การเตรียมงานล่าช้าแต่ก็คลี่คลายได้

คุณหมอเล่าว่าช่วงที่ ดร.หลิน ไปพบ President ที่ ไต้หวัน คุณหมอ มีโอกาสติดตามไปได้นำไอเดียที่ไต้หวันมาลองทำ เริ่มเช่าบ่อทำฟาร์มทดลองปลากระพงแล้วก็กุ้งกุลาดำที่แม่กลอง ทำอยู่ 3 ปีมีปัญหาหยุดไปร่วม 2 ปี แล้วกลับมาทำอาหารปลาดุกเพราะปลาดุกได้รับความนิยม

แต่งานวิจัย งานค้นคว้าไม่สามารถอยู่นิ่ง ทีมงานเลยไปเช่าแถวคลองรังสิตทำวิจัยและศึกษาความเป็นไปได้การเลี้ยงกุ้งในไทยเพื่อนำเสนอท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ท่านได้ให้ไปดูเรื่องที่ดินเพราะการเลี้ยงกุ้งจำเป็นต้องใช้ที่ดินที่เหมาะสมแต่ช่วงนั้นเศรษฐกิจไม่ดีเลยชะลอไปอีก 2-3 ปี หลังจากนั้นก็ไปญี่ปุ่นกับ ดร.หลินแต่ก็ยังไม่สำเร็จอีก 2 ปี  จนกระทั่งมี บริษัท มิตซูบิชิ ของญี่ปุ่น ที่เก่งเรื่องเพาะเลี้ยงกุ้งและมีเทคโนโลยีเข้ามาติดต่อเราเองและร่วมลงกันตั้ง บริษัท กรุงเทพเพาะเลี้ยงสัตว์ ขึ้น และเริ่มตั้ง กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขึ้นมาใหม่  โดยคุณหมอรับผิดชอบดูแลงานวิจัยทั้งกุ้งและสัตว์น้ำจืด ในความจริงซีพี เริ่มทำอาหารกุ้งกุลาดำเมื่อปี 2528 โดยคนริเริ่มวิจัยสูตรอาหารเหล่านี้คือคุณหมอ

ประมาณปี 2526 ทางซีพีได้ไปเช่าฟาร์มเล็ก ๆ แห่งหนึ่งอยู่ที่แม่กลองทำการทดลองเลี้ยงกุ้งกุลาดำ คุณหมอคือผู้ที่รับมอบหมายให้ดูแลงานบุกเบิกนี้ สมัยนั้นฟาร์มเลี้ยงแบบพัฒนายังไม่แพร่หลายไปทั่วเมืองไทย พื้นที่แถบ ระโนด-หัวไทรยังคงเป็นเพียงผืนนากว้าง หรือแม้แต่ทางภาคตะวันออกแถวจังหวัดตราดและจันทรบุรีก็ล้วนยังคงเป็นป่าชายเลนและสวนผลไม้

คุณหมอสุจินต์ยอมรับว่า ก่อนหน้านั้นกุ้งกุลาดำเป็นเรื่องใหม่รวมถึงในส่วนของบริษัทเองก็ยังไม่มีทรัพยากรและเครื่องไม้เครื่องมือทางด้านนี้มากเท่าใดนัก แม้แต่ลูกกุ้งที่ใช้ปล่อยในการทดลองเลี้ยงก็ยังต้องซื้อเอาจากกรมประมงด้วยซ้ำไป ด้วยการเริ่มต้นจากศูนย์อย่างแท้จริง ตลอดช่วง 3 ปีของการทำฟาร์ม ทดลองจึงไม่มีผลิตผลอะไรออกมา แต่ผลตอบแทนที่มีค่าอย่างยิ่งก็คือความรู้ทั้งมวลเกี่ยวกับกุ้งอันเป็นฐานรากสำคัญให้กับการทำธุรกิจในภายหลัง

“สิ่งที่ได้รู้ก็คือกุ้งเป็นอย่างไร ได้เข้าใจว่าปัญหามีมากน้อยแค่ไหน ดร.ชิงชัย ก็พาไปไต้หวันได้เห็นอะไรต่าง ๆ จนที่สุดก็มาลงทุนร่วมกับญี่ปุ่น ทำจริงจังขึ้นมา”

ในที่สุดด้วยความพยายามคุณหมอกับทีมงานของซีพีก็ค้นพบวิธีการเลี้ยงโดยใช้ระบบปิดหรือ ระบบน้ำหมุนเวียนที่ใช้หลักการทั่วไปของการใช้น้ำในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำก็คือ เมื่อมีการเอาน้ำเข้าสู่บ่อและใช้ไประยะหนึ่งแล้วก็ต้องปล่องทิ้งออกมา เนื่องจากว่าในน้ำที่ผ่านการเลี้ยงแล้วนั้นจะปะปนไปด้วยเศษอาหารตกค้างและของเสียที่กุ้งขับถ่ายออกมา หลังจากใช้ไปช่วงเวลาหนึ่ง ความเข้มข้นของของเสียก็สะสมมากขึ้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการถ่ายออก นำน้ำใหม่เข้าไปแทน

ระบบปิดหรือการใช้น้ำหมุนเวียนสามารถเป็นคำตอบก็เพราะระบบนี้ได้ตัดทอนขั้นตอนการพึ่งพาน้ำจากภายนอกออกไปจากกระบวนการเลี้ยง มีความจำเป็นต้องสูบน้ำจากภายนอกเข้าสู่ฟาร์ม เฉพาะในขั้นต้นโดยที่น้ำดังกล่าวอาจจะต้องนำไปผ่านการบำบัดให้มีสภาพดีและเหมาะสมพอก่อน จนกระทั่งสามารถมั่นใจได้แล้ว จึงนำไปใช้ และเมื่อใช้แล้ว ก็ไม่ปล่อยทิ้งออกมา แต่จะผ่านตามรางน้ำทิ้งไปใช้ในการเลี้ยงปลา เลี้ยงหอยซึ่งเป็นตัวกรองที่กินตะกอนของเสียอันเป็นสารอินทรีย์ต่าง ๆ ให้ลดจำนวนลงได้ จากนั้นอาจจะบำบัดเพิ่มด้วยการเติมออกซิเจนหรือใช้แพลงตอนพืชชนิดกินแอมโมเนียเข้าช่วย น้ำนั้นก็สามารถใช้ได้อีก

นับแต่นั้นมาธุรกิจการเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำก็ถูกพัฒนามาจนถึงปัจจุบันและส่งผลให้อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำเติบโตแม้จะเจอปัญหาเรื่องโรคและเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณหมอกับทีมธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็หาทางแก้ปัญหาและสร้างนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาอย่างต่อเนื่อง สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์น้ำที่ถูกกฏหมาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ยกระดับการผลิต และร่วมพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

คุณหมอเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและด้านวิชาการอาหารสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ที่ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2529 จากเดิมที่เป็นการเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติ และแบบกึ่งพัฒนา เปลี่ยนมาเป็นการ เลี้ยงในระบบพัฒนา ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่สูงกว่าเดิม คุณภาพของกุ้งเป็นที่ยอมรับ และยังเป็นการเลี้ยงกุ้งในแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ในด้านการพัฒนาสูตรอาหารสำเร็จรูปสำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำและอาหารสำหรับสัตว์น้ำวัยอ่อนนั้นคุณหมอ ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่มาพัฒนาสูตรอาหารต่าง ๆ เช่น อาหารกุ้ง อาหารปลา เป็นต้น โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีคุณภาพสูง ราคาถูก และกระบวนการผลิตอันประกอบด้วยเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ทันสมัย ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน ทำให้อาหารสัตว์น้ำของเครือเจริญโภคภัณฑ์มีคุณภาพสม่ำเสมอ และได้มาตรฐานเท่าเทียมกันทุกครั้งการผลิต ในด้านการ พัฒนาพันธุกรรมสายพันธุ์สัตว์น้ำ คุณหมอ เป็นหนึ่งในทีมวิจัยที่ทุ่มเทวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์สัตว์น้ำ อาทิ ปลาทับทิม กุ้งก้ามกราม และกุ้งแวนาไม กับสถาบันต่าง ๆ จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นการพัฒนาอาชีพการประมงให้กับ เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันประเทศไทยยังคงครองตำแหน่งผู้นำด้านการผลิตกุ้งของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยมีผู้บริหารซีพี ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่าง ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล และ น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ทั้ง 2 ท่านนี้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จดังกล่าว …. จากความมุมานะ-มุ่งมั่น นับเป็นคุณาปการของมวลมนุษยชาติ … ไม่ว่าจะเป็นกุ้งปลอดสาร คุณภาพสูงให้ผู้บริโภคทั่วโลก ได้รับรับประทานด้วยความปลอดภัย หรือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งสู่เกษตรกรของไทยและทั่วโลก ให้มีอาชีพยั่งยืน รวมไปถึงการวิจัยพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อเป้าหมายสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้ง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เห็นว่าคุณหมอเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติการทำงานอันดีเด่นเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และมากด้วยประสบการณ์ในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นผู้อุทิศตนทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมจนเป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม จึงมีมอบเข็มพระพิรุณทองคำเกษตรศาสตร์  และโล่ประกาศเชิดชูเกียรติคุณ “เกษตรศาสตร์ ปราดเปรื่อง” รุ่นที่ 19 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนิสิตเก่าผู้ประสบความสำเร็จก้าวหน้าในอาชีพ การบริหารงานระดับสูง ช่วยสร้างคุณประโยชน์ต่อองค์กร สังคม ประเทศชาติ นำชื่อเสียงมาสู่มหาวิทยาลัย และประเทศชาติ ตลอดจนเป็นแบบอย่างที่ดีงามของนิสิตและบุคคลในสังคม

คุณหมอสุจินต์ ถือเป็นอีกตัวอย่างของความกตัญญู จากครอบครัวชาวนา ซีพีให้โอกาสได้สร้างเนื้อสร้างตัวให้ความรู้ให้อีกหลาย ๆ อย่างและสิ่งที่บริษัทให้เกินจากความต้องการเป็นความผูกพันกันเหมือนคนในครอบครัว ด้วยความรัก ความอบอุ่น ทุกวันนี้ทำงานเพื่อตอบแทนบริษัท และมองเพื่อนร่วมงานเปรียบเสมือนคนในครอบครัวซีพี

ที่มา คลังภาพซีพี 100 ปี

อ้างอิง วารสารบัวบาน มิ.ย. 2539 / นิตยสารผู้จัดการ / วารสารนนทรีฉบับที่ 2 ปี 2560 เดือนมิถุนายน-กันยายน