CPF เดินหน้าสู่เป้าหมายบรรจุภัณฑ์ 100% สามารถใช้ซ้ำ ใช้ใหม่ ผลิตเป็นสินค้าใหม่ หรือย่อยสลายได้

CPF ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาและใช้บรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติก 99.9% เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Reusable) และสามารถกลับมาใช้ซ้ำได้ (Recycle) และย่อยสลายได้ (Compostable) ตั้งเป้าเป็น 100% ภายในปี 2568 สำหรับกิจการในไทย ส่วนกิจการในต่างประเทศ ภายในปี 2573 พร้อมเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน
คุณณฤกษ์ มางเขียว รองกรรมการผู้จัดการบริหาร CPF กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์อาหารที่ยั่งยืนในการส่งมอบอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วิจัยและพัฒนานวัตกรรมของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกใหม่ เพิ่มสัดส่วนการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ตลอดจนส่งเสริมการใช้วัสดุรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ร่วมกับเครือข่ายในการจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วรับคืนกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อสร้างคุณค่าให้กับบรรจุภัณฑ์หลังการใช้งาน ร่วมลดขยะพลาสติกในห่วงโซ่คุณค่าทุกสายธุรกิจ
“นโยบายบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน เป็นหนึ่งในเป้าหมายของกลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action ที่มุ่งเน้นการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อบรรลุเป้าหมายการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกอาหาร 100% นำกลับมาใช้ใหม่ (Reusable) นำกลับมาใช้ซ้ำได้ (Recycle) และย่อยสลายได้ (Compostable) ภายในปี 2568 สำหรับกิจการในไทย ส่วนกิจการในต่างประเทศจะดำเนินการภายในปี 2573 นำไปสู่การลดปริมาณขยะจากบรรจุภัณฑ์ สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs)” คุณณฤกษ์ กล่าว
CPF ยึดหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนในการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อใช้ทรัพยากรในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการใช้พลาสติก ควบคู่การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีพลาสติกที่แต่ละชั้นเป็นชนิดเดียวกัน (Mono Material) ช่วยให้นำบรรจุภัณฑ์ไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด (100% Recyclable) ปัจจุบัน เช่น ผลิตภัณฑ์ Meat Zero ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 60 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เท่ากับการปิดหลอดไฟ 7 ล้านหลอดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้กว่า 1 ล้านต้นเป็นเวลา 10 ปี นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เช่น ถาดไข่ไก่สดพลาสติก rPET ใช้พลาสติกรีไซเคิลในสัดส่วน 80% ช่วยให้บริษัทฯ สามารถลดการใช้พลาสติกใหม่ถึง 820 ตันต่อปี หรือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 1,280 ตัน CO2 เทียบเท่าต่อปี
บริษัทฯ ยังได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ทางเลือกใหม่ที่ใช้วัสดุชนิดใหม่ ลดความหนา ปรับขนาด หรือ เปลี่ยนรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ยังสามารถปกป้องความปลอดภัยอาหารและคงคุณค่าโภชนาการ เช่น การลดปริมาณการใช้กระดาษของกล่องกระดาษสำหรับผลิตภัณฑ์ CP Flamin’ Chicken Tenders จากกล่องกระดาษ 2 ชิ้นเป็นใช้กระดาษชิ้นเดียว และสามารถป้องกันความเสียหายต่อผลิตภัณฑ์จากการขนส่ง ซึ่งบรรจุภัณฑ์กล่องดังกล่าว ได้รับรางวัลสุดยอดผู้ส่งออกอาหารแห่งเอเชีย ประจำปี 2021 จากเวที The Asian Export Awards 2021 รวมทั้ง CPF ยังเป็นบริษัทแรกที่นำพลาสติกใสชีวภาพ Polylactic acid (PLA) ที่ผลิตจากพืช มาใช้กับผลิตภัณฑ์เนื้อหมูและไก่สดแช่เย็น ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งช่วยบริษัทฯ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 198 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2554 บริษัทฯ ใช้ Bulk Feed Tank ทดแทนการใช้กระสอบพลาสติกบรรจุอาหารสัตว์ และขยายผลไปยังกิจการต่างประเทศ ช่วยลดการใช้พลาสติกได้กว่า 16,000 ตัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 51,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และบริษัทฯ ยังนำถัง Q-Pass Tank มาใช้บรรจุลูกพันธ์กุ้งเพื่อขนส่งไปยังลูกค้าแทนการใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ช่วยลดการใช้พลาสติกได้กว่า 540 ตัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 2,100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสำหรับร้านอาหารของบริษัท เช่น “เชสเตอร์” ใช้จานเมลามีน ช้อน-ส้อม-มีดสเตนเลส ตลอดจนแก้วน้ำ โดยไม่ใช้ พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single–Use Plastic) ภายในร้านกว่า 200 สาขาทั่วประเทศ ยิ่งไปกว่านี้ CP Food World สาขา UN ESCAP ยังเป็นศูนย์อาหารแบบ Zero waste อีกด้วย
CPF ยังได้สร้างความตระหนักสู่พนักงานในองค์กรและชุมชนที่มีส่วนร่วมบรรเทาปัญหาขยะทะเล ที่ก่อปัญหากับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในท้องทะเล ผ่านการดำเนินโครงการ Restore the Ocean ลดปริมาณขยะในทะเล และนำขยะมาจัดการอย่างถูกวิธีตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามกลยุทธ์ CPF Sustainability in Action 2030 ยั่งยืนได้ด้วยมือเรา โดยล่าสุด เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา CPF ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ จัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาด 7 จุดทั่วประเทศ ซึ่ง มีปริมาณขยะที่เก็บได้รวมมากกว่า 7 ตัน นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับมูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และ บริษัท เก็บสะอาด จำกัด (GEPP) ดำเนินโครงการ “Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก” เปลี่ยนอาหารส่วนเกิน (Surplus Food) ซึ่งตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563
จนถึงปัจจุบัน ร่วมส่งมอบอาหารมื้อคุณภาพไปแล้ว 65,302 มื้อ ให้กับ 85 ชุมชน พร้อมทั้งเก็บกลับบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากว่า 6,000 ชิ้น เพื่อช่วยจัดการปัญหาขยะในชุมชนและนำบรรจุภัณฑ์ที่เก็บกลับมาเป็นพลังงานทางเลือก เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ CPF มีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030 สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ที่ต้องการลดจำนวนขยะอาหารทั่วโลกกว่าครึ่ง ภายในปี 2573
Cr.PR CPF