‘คอนแทรกต์ฟาร์ม’ อาชีพไร้เสี่ยง สร้างสุขเกษตรกรไทย

คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) หนึ่งในระบบการผลิตผลผลิต ที่เป็นข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา คือ บริษัทผู้ประกอบการ กับเกษตรกร (หรือกลุ่มเกษตรกร) ซึ่งคนทั่วไปจะรู้จักรูปแบบการทำคอนแทรกต์ฟาร์มที่ใช้ในการปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์ ระบบนี้มีข้อเด่นที่ “การลดความเสี่ยงด้านการตลาดและราคาที่ผันผวน” ผ่านการตกลงร่วมกันในการผลิตผลผลิตด้านการเกษตร โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจน

ผู้ประกอบธุรกิจทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์พืช-พันธุ์สัตว์ เวชภัณฑ์ อาหาร ปุ๋ย ฯลฯ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิธีการผลิตตามมาตรฐานเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถผลิตผลผลิตที่มีคุณภาพ มาตรฐานตามที่กำหนด ขณะที่เกษตรกรรับหน้าที่ดูแลด้านการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตตรงตามข้อสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน โดยมีค่าตอบแทนตามความเหมาะสมและได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว

เกษตรกรรุ่นใหม่อย่าง ทิพยวรรณ กันภัย เจ้าของ “ทิพยวรรณฟาร์ม” ต.แม่งอน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขุน ในโครงการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย หรือคอนเทรกต์ฟาร์ม กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จากอดีตเกษตรกรสวนส้มที่ตัดสินใจล้มต้นส้มกว่า 7 ไร่ หลังจากมีปัญหาโรคระบาดในส้มเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เล่าย้อนที่มาของการผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมูว่า เมื่อสวนส้มเริ่มมีปัญหา จึงต้องมองหาอาชีพที่น่าจะทดแทนกัน จนมาเจอกับอาชีพเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟ เธอได้หาข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องการลงทุน ข้อสัญญา ผลตอบแทน และความเสี่ยงต่างๆ ก่อนจะสรุปกับตัวเองได้ว่า การเป็นเกษตรกรคอนแทรกต์ฟาร์มนั้น “ไม่มีความเสี่ยง” แถมยังไม่ต้องกังวลกับเรื่องการหาตลาดเอง ผลตอบแทนมากน้อยขึ้นอยู่กับตัวเองลงมือทำและใส่ใจ จึงตัดสินใจร่วมโครงการฯ เมื่อปี 2553 เลี้ยงหมูขุนความจุรวม 640 ตัว

“ไม่มีคำว่าโชคช่วยสำหรับการเลี้ยงหมู มีแต่คำว่าใส่ใจและดูแลหมูให้ดี เพื่อให้มีประสิทธิภาพการเลี้ยงที่ดี ด้วยเทคนิคการคัดแยกขนาดหมูให้ใกล้เคียงกันที่สุดตั้งแต่วันแรก และเอาใจใส่ดูแลให้ลูกหมูตัวเล็กโตทันเพื่อนให้ได้ มีการเสริมนมกับกล้วยสุกบ้าง ที่สำคัญคือการป้องกันโรคที่เข้มงวด ซึ่งถือว่าโชคดีมากที่ฟาร์มยกระดับเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนที่ต้องป้องกันโรคสำคัญในหมูทั้ง ASF และ PRRS เมื่อเกิดโรคโควิด-19 ขึ้น จึงไม่กังวลเพราะระบบ Biosecurity ที่ฟาร์มดำเนินการนั้นแน่นหนาอยู่แล้ว และให้คนงานพักอาศัยในพื้นที่บ้านพักของฟาร์ม เพื่อลดความเสี่ยงจากทั้งโรคคนและโรคสัตว์ เป็นการสร้างความมั่นใจในมาตรฐานอาหารปลอดภัยอีกขั้นหนึ่ง ความทุ่มเทตลอด 12 ปีที่ผ่านมา โดยมีซีพีเอฟเคียงข้างกันมาและถ่ายทอดทุกๆ เทคนิค เพื่อให้เราเติบโตขึ้น เข้มแข็งขึ้น ปรากฏผลชัดเจนในวันนี้ เรามีอาชีพที่ดี ปลอดจากความเสี่ยง ได้รายได้ที่เหมาะสมตามกำลังที่เราทุ่มเทไป เท่านี้ก็มีความสุขมากแล้ว” ทิพยวรรณบอกด้วยรอยยิ้ม

สอดคล้องกับ รุ่งทิพย์ เพ็ชร์ลมุล เจ้าของ “หอมชื่นคอนกรีตฟาร์ม” ต.ท่าชมวง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เกษตรกรคอนแทรกต์ฟาร์มเลี้ยงหมูพันธุ์กับซีพีเอฟ เล่าย้อนว่า เมื่อปี 2542 หลังจากเรียนจบประมาณ 2 ปี เธอมีความคิดอยากมีอาชีพที่เป็นเจ้านายตัวเอง ได้อยู่บ้านดูแลพ่อที่ป่วย ได้เลี้ยงลูกที่กำลังเล็ก พอดีเพื่อนบ้านเลี้ยงหมูกับบริษัทอยู่แล้วจึงสนใจเข้าไปศึกษา พบว่ามีความเป็นไปได้และตอบโจทย์ที่ต้องการแถมยังไม่ต้องเสี่ยงกับตลาดที่ผันผวน มีรายได้ทุกเดือน และรายได้จากการจับหมูขายตามประสิทธิภาพของตัวเอง จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการทันที เริ่มจากเลี้ยงหมูแม่พันธุ์ 150 แม่ และขยายอีกเท่าตัวเป็น 300 แม่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

“ตลอด 20 กว่าปีที่ร่วมงานกับบริษัท เป็นสิ่งยืนยันว่า อาชีพนี้มีความมั่นคงยั่งยืน และไม่มีความเสี่ยงด้านการตลาด เพราะบริษัทเป็นตลาดรองรับผลผลิตทั้งหมด มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแลทุกอย่าง ยิ่งช่วงที่มีโรคโควิด-19 ความใส่ใจในการป้องกันโรคที่ดีอยู่แล้วจากมาตรการป้องกันโรคหมูก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ อย่างเช่นคนงานก็จะจัดที่พักให้ ทำให้พวกเขาไม่ต้องออกไปเสี่ยง สัตวแพทย์ของซีพีเอฟ และปศุสัตว์อำเภอก็จัดอบรมการป้องกันโรคและติดตามสุขภาพสัตว์ต่อเนื่อง ที่สำคัญคือการใส่ใจในมาตรฐานการผลิต เพราะเราเป็นต้นทางของอาหารปลอดภัย เมื่อทุกอย่างได้รับการดูแลอย่างดี ผลผลิตที่ได้จึงดีมาก รายได้ก็ดีตามไปด้วย คนเลี้ยงก็มีความสุข บริษัทก็มีหมูคุณภาพดีไปขาย นำไปแปรรูป คนกินก็ได้อาหารปลอดภัย นี่คือระบบที่ Win-Win ทุกฝ่ายจริงๆ” รุ่งทิพย์ สรุปไว้อย่างน่าสนใจ

‘คอนแทรกต์ฟาร์ม’ คือภาพสะท้อนการร่วมกันทลายปัญหาของเกษตรกรที่มีมาตลอด ทั้งเรื่องปัญหาการตลาดที่เกษตรกรต้องแบกรับภาระการจัดหาตลาดเอง การเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างจำกัด ระบบนี้เข้ามาจัดการด้านการตลาด ทำให้เกษตรกรปลอดความเสี่ยง คลายภาระเกษตรกรที่ต้องแบก และพวกเขายังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ดีจากบริษัท เป็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมและการทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายเดียวคือ การสร้างอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค

ที่มา ซีพีเอฟ