“CEO ซีพีเอฟ“ ร่วมแชร์ Best Practice ขับเคลื่อนความยั่งยืน เวทีสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC 2022)

การประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC 2022) เวทีความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในปีนี้มีการประชุมคู่ขนาน คือ การประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค ครั้งที่ 4/2022 : APEC Business Advisory Council 2022 หรือ ABAC 2022 เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านความยั่งยืน (Sustainability Working Group) โดย CEO ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ได้รับเกียรติเข้าร่วมประชุม ในฐานะบริษัทเอกชนชั้นนำและเป็นตัวแทนของประเทศไทย ร่วมแชร์ประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของอุตสาหกรรมอาหาร ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ถนนวิทยุ
CEO ซีพีเอฟ กล่าวถึง การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ว่า CPF ได้รับเชิญให้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของอุตสาหกรรมอาหารตามแนวทางความยั่งยืน ในการประชุม Sustainability Working Group ซึ่ง CPF ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ตามเป้าหมายของโลกและขององค์กร เนื่องจาก CPF ดำเนินธุรกิจและลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก จึงต้องยึดเป้าหมายตามมาตรฐานของโลก นับว่ามีความท้าทายมาก
CPF ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน โดยประกาศกลยุทธ์เชิงรุกสู่เป้าหมาย Net- Zero มุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิต ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการผลิต การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบัน CPF มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 27% ของการใช้พลังงานทั้งหมด, ยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน 100% สำหรับกิจการในไทยภายในปีนี้ และหันมาใช้พลังงานชีวมวลทดแทน, การพัฒนาผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำและบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกของซีพีเอฟ 99.9% สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recyclable) หรือนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) หรือสามารถย่อยสลายได้ (Compostable) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ทั้งต้นน้ำและป่าชายเลน
“ประเทศไทย มีชื่อเสียงที่ดีในเรื่องการเกษตร การส่งออก และการเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพ สิ่งสำคัญนอกจากคุณภาพอาหาร คือ ต้องผลิตและส่งมอบอาหารได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ยังสามารถดูแลสิ่งแวดล้อม สังคมได้ดี มีการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผมคิดว่าสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มเติม คือ เชิญชวนคู่ค้าธุรกิจและเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของเรา ให้มีความตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” CEO ประสิทธิ์ กล่าว
พร้อมกันนี้ CEO ประสิทธิ์ ได้ยกตัวอย่างโครงการที่มีแนวทางปฏิบัติที่ดีของ CPF คือ โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสุกร (ไบโอแก๊ส) เปลี่ยนของเสียจากมูลสุกรเป็นพลังงานไฟฟ้าและมีประสิทธิภาพที่ดี ซึ่งปัจจุบันไฟฟ้าที่ใช้ในฟาร์มสุกร 50% มาจากการเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงานด้วยระบบไบโอแก๊ส เรียกได้ว่าเป็นโครงการต้นแบบและเป็นโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็น Best Practice ของบริษัทฯ
CEO ซีพีเอฟ ยังกล่าวถึง การประชุม APEC 2022 ในครั้งนี้ว่า เป็นการรวมตัวผู้นำจากทั่วโลกที่มีความคาดหวังและมีเป้าหมายร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับโลก ภาคสรุปของการประชุมเอเปค ทำให้เห็นทิศทางที่แต่ละประเทศรวมกันแล้วลงมือทำ ทำให้ภาคเอกชนสามารถเตรียมแผนภาคปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน ขณะที่ไทย นอกจากจะเป็นผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลกแล้ว ยังเป็นผู้ผลิตอาหารคุณภาพ ปลอดภัย ที่มาจากกระบวนการผลิตและการจัดการอย่างยั่งยืน
Cr.PR CPF