“ซีพีเอฟ” ร่วมปลดล็อกสภาพคล่อง ใหคู่ค้าเอสเอ็มอี

การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างเป็นที่ทราบกันดี ผู้คนทั่วโลกเดือดร้อน พากันตกงานกันมาก เนื่องจากธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ กำลังซื้อหดหาย การเดินทางถูกจำกัด

ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามหามาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของฐานรากเศรษฐกิจไทย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจยังไม่สามารถแก้ไขได้ ยอดขายและขาดสภาพคล่อง ทางการเงิน เป็นความเสี่ยงให้เกิดธุรกิจหยุดชะงัก และหลายๆรายประสบรุนแรงถึงขั้นปิดกิจการ กระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงเศรษฐกิจในภาพรวม

จากความพยายามของหลายภาคส่วนที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้สามารถประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อได้ และเป็นฐานที่มั่นคงของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกของไทยในระยะยาว และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในภาคเอกชนไทยที่ร่วมให้ความช่วยเหลือคู่ค้าโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของบริษัท และร้านค้าในกลุ่มซีพีเอฟ ผ่านการดำเนินโครงการ Faster Payment ลดระยะเวลาเครดิตเทอม ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้ตรวจรับสินค้าหรือบริการครบถ้วน และได้รับเอกสารเรียบร้อยแล้ว

เป็นโครงการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบ และเสริมสภาพคล่องให้คู่ค้าที่เป็นเอสเอ็มอีของซีพีเอฟ ช่วยคลายล็อกการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี และรายบุคคล ร่วม 6,000 ราย ได้มีสภาพคล่องทางการเงิน สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อเนื่อง เป็นแนวทางช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งหลังสถานการณ์โควิด-19

คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้ร่วมมือกับภาครัฐ ดำเนินโครงการ Faster Payment โดยบริษัทลูก ร้านค้า และแบรนด์สินค้าในกลุ่มของซีพีเอฟ ทั้งซีพี, ซีพี เฟรชมาร์ท, ห้าดาว, เชสเตอร์, ดัค กาลบี้และ CP–HiLai เป็นต้น ชำระสินค้าและค่าบริการ ภายใน 30 วันทันทีนับจากวันที่ได้ตรวจรับสินค้าหรือบริการ ให้แก่คู่ค้าที่เป็นเอสเอ็มอี มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท

รวมทั้งคู่ค้าที่เป็นรายบุคคล มุ่งหวังว่าจะสามารถช่วยปลดล็อกสภาพคล่องในการบริหารการเงินให้คู่ค้าของซีพีเอฟได้สามารถดำเนินงานต่อได้ ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มโครงการในเดือนตุลาคมเป็นเดือนแรก เชื่อมั่นว่า โครงการเครดิตเทอม 30 วันจะช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้น นับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าได้

“บริษัทมั่นใจว่า เครดิตเทอมที่สั้นลงและมีระยะเวลาแน่นอน จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้คู่ค้าเอสเอ็มอี และคู่ค้าที่เป็นรายบุคคล มีกระแสเงินสดใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมั่นใจในการวางแผนขยายงาน สร้างการเติบโตที่ต่อเนื่อง และจากการสอบถามความเห็นคู่ค้าเอสเอ็มอีของซีพีเอฟทั้งหมดพึงพอใจกับเครดิตเทอมที่สั้นลงเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์สามารถดำเนินงานส่งมอบงานที่มีประสิทธิภาพ และต้องการให้ซีพีเอฟดำเนินโครงการนี้ต่อเนื่อง” นายประสิทธิ์กล่าว

ด้านคุณนิวัติ มีงาม เจ้าของ หจก.ภูรินทร์ กรีนฟู้ดส์ โปรดักส์ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จัดหากระเทียมแกะกลีบให้แก่ซีพีเอฟ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ยอดสั่งซื้อสินค้าลดลง 50% การที่ซีพีเอฟให้ความช่วยเหลือปรับลดช่วงเวลาเครดิตเทอม 30 วัน ส่งผลดีกับเอสเอ็มอีเป็นอย่างมากช่วยเสริมสภาพคล่อง ในการจัดซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรมาผลิตวัตถุดิบส่งให้ซีพีเอฟได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยให้มั่นใจว่ามีเงินหมุนเวียนสำหรับเตรียมความพร้อมขยายธุรกิจรองรับความต้องการของลูกค้าในปีหน้าได้

ปัจจุบัน ซีพีเอฟมีคู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการ ขนาดย่อมเอสเอ็มอี ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และเป็นรายบุคคลรวมประมาณ 6,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นซัพพลายเออร์ด้านวัตถุดิบ เครื่องปรุง บรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการการปรับระยะเวลาเครดิตเทอมเหลือ 30 วัน เป็นหนึ่งแนวทางร่วมแรงร่วมใจขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะช่วยพยุงให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 10 ล้านคนได้รับประโยชน์ สามารถดำเนินธุรกิจสร้างการเติบโตไปด้วยกัน รักษารากฐานที่เป็นหัวใจของภาคอุตสาหกรรมไทยให้อยู่รอดโดยเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมที่ต้องร่วมมือร่วมใจฝ่าวิกฤติครั้งสำคัญร่วมกันให้ได้

Cr.Thairath