ซีพีเอฟ สร้างพนักงานหัวใจจิตอาสา ร่วมดูแลชุมชนและสังคมน่าอยู่อย่างยั่งยืน

องค์กรชั้นนำที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน มีธรรมาภิบาล ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ซีพีเอฟ ปักหมุด ส่งเสริมพนักงานตอบแทนสังคม
บริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก นอกจากการผลิตตามมาตรฐานสากลแล้ว นโยบายการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญที่ต้องสนองตอบความต้องการของสังคมโลก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร มีการกำหนดกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ยั่งยืน ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่ เพื่อดำเนินธุรกิจด้วยความใส่ใจอย่างรอบด้าน

หนึ่งในแนวทางสำคัญที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง คือ การส่งเสริมให้บุคลากรมีจิตอาสาและเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของสังคมเริ่มจากที่บ้าน ที่ทำงานและเผื่อแผ่ไปยังชุมชนตลอดจนประเทศชาติ จึงเป็นเรื่องปกติที่เห็นพนักงงานซีพีเอฟ เข้าร่วมโครงการและกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของสาธารณะทั้งของ

บริษัทฯ หรือโครงการอื่นๆ อาทิ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน โครงการ ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ภายใต้เสาหลัก “อาหารมั่นคง” ที่มุ่งส่งเสริมเด็กและเยาวชนไทยได้บริโภคอาหารที่มีโภชนาการ สะอาด ปลอดภัย โครงการ กองทุน ซีพีเอฟ คืนสุขผู้สูงวัย ภายใต้เสาหลัก สังคมพึ่งตน เป็นการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้รอบโรงงานและฟาร์มของบริษัท โดยมอบเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ เดือนละ 2,000 บาท จนกว่าผู้สูงอายุจะถึงแก่กรรม และ เสาหลัก “ดิน น้ำ ป่าคงอยู่” เป็นการเดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าทั้งป่าบกและป่าเลน เพื่อสร้างสมดุลธรรมชาติให้เป็นปอดของคนไทย และร่วมบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

5 ปี แห่งความสำเร็จกับการคืนผืนป่าสู่ความอุดมสมบูรณ์
ภาพเขาพระยาเดินธงที่แห้งแล้ง เมื่อ 5 ปีก่อน วันนี้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวมีการทำกิจกรรมตามวิถีธรรมชาติ เช่น การวิ่ง Trial แคมป์ปิ้ง ส่องนก เป็นต้น ล้วนเป็นสัญญาณสำคัญของป่าที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ซีพีเอฟร่วมมือกับกรมป่าไม้และชุมชน ในพื้นที่ ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ดำเนิน “โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” โดยมีเป้าหมายอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่า เป็นการปลูกป่าควบคู่ไปกับการปลูกพลังจิตอาสาของบริษัทฯ เพื่อร่วมดูแลทรัพยากรป่าไม้ของชาติและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน พลิกผืนป่าจากที่มีสภาพเป็นเขาหัวโล้นสู่ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์

ในช่วง 5 ปีของ โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ระยะที่หนึ่ง (ปี 2559-2563) ผืนป่า 5,971 ไร่ ที่ได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู มาจากความมุ่งมั่นร่วมแรงร่วมใจของจิตอาสาและคนในชุมชน ด้วยการทำกิจกรรมและติดตามดูแลผืนป่าแปลงปลูกอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการในการปลูกต้นไม้ให้แก่จิตอาสาที่ร่วมกิจกรรมและชุมชน กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ กำจัดวัชพืช ทำแนวกันไฟ เป็นต้น ที่สำคัญ คือ ดึงการมีส่วนร่วมของชุมชนดูแลรักษาป่าให้คงอยู่อย่างยั่งยืน จากกล้าไม้ได้เติบโตเป็นไม้ใหญ่ยืนต้น ทำให้วันนี้ ผืนป่าที่นี่ เกิดความหลากหลายทางชีวิต ช่วยแก้ปัญหาความแห้งแล้ง ลดการเกิดไฟป่า และยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เรื่องการปลูกป่าอีกด้วย

คุณอนุชิต ศรีสุระ จิตอาสา ซีพีเอฟและคณะทำงานโครงการยุทธศาสตร์ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง กล่าวถึงประสบการณ์การเป็นจิตอาสาปลูกป่าในพื้นที่ป่าแห่งนี้ตั้งแต่เริ่มโครงการ ทำให้ได้เห็นถึงความตั้งใจจริง ความต่อเนื่องและความสมัครสมานสามัคคีของเพื่อนพนักงานที่พร้อมใจกันมาร่วมกิจกรรมไม่ว่าสถานการณ์ไหน การเรียกระดมกำลังจะมีจิตอาสามาเกินกว่าเป้าหมายทุกครั้ง และร่วมกันทำงานจนแล้วเสร็จด้วยความสนุกสนานและมีน้ำใจต่อกัน

ด้าน คุณพนาวุธ เผือดจันทึก จิตอาสาซีพีเอฟ เล่าว่า การเข้ามาทำกิจกรรมที่เขาพระยาเดินธง ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวบ้าน ทั้งเรื่องของพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ ทำให้รู้จักธรรมชาติมากขึ้น และการลงพื้นที่แต่ละครั้งได้เห็นความตั้งใจจริงของจิตอาสาและชาวบ้านที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย ร่วมแรงช่วยกันฟื้นฟูป่าให้สมบูรณ์ขึ้น สะท้อนความรักและความผูกพันกับผืนป่าของชาวบ้าน ที่สำคัญการได้เห็นผืนป่าแห่งนี้กลับมาเป็นป่าสีเขียวอีกครั้งสร้างความภาคภูมิใจไม่มีที่สิ้นสุด

ส่งเสริมชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
นอกจากผืนป่าที่เหล่าจิตอาสาซีพีเอฟช่วยฟื้นคืนชีวิตให้แล้ว ยังได้ต่อยอดความสำเร็จของโครงการปลูกป่า สู่การสร้างชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ช่วยสร้างรายได้เสริมและลดรายจ่ายของครัวเรือน ด้วยการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับชุมชน อาทิ โครงการปลูกผักปลอดสารเคมี ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนจาก 8 หมู่บ้านรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธงเข้าร่วมโครงการ มีผลผลิตผักสวนครัวที่สะอาด ปลอดภัย บริโภค และโครงการปล่อยปลาลงเขื่อนและแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องที่เกิดจากความร่วมมือของกรมประมง ภาคเอกชนคือ ซีพีเอฟและชุมชน โดยทั้งสองโครงการเป็นการสร้างแหล่งอาหารของชุมชน

จิตอาสาซีพีเอฟ จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญภายใต้วิสัยทัศน์ ซีพีเอฟสู่การเป็น “ครัวของโลก” ที่จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมสร้างชุมชนและสังคมที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ที่มา:ผู้จัดการออนไลน์