ความภูมิใจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ “ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์” รับรางวัล Malcolm S. Forbes Lifetime Achievement จาก Forbes Media รางวัลที่มอบให้แก่บุคคลที่มีผลงานและความสำเร็จอันน่าประทับใจตลอดชีวิต

บนเวทีการประชุมสุดยอดซีอีโอ Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 21 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อค่ำคืนของวันที่ 11 กันยายน 2566   ณ โรงแรมแชงกรีล่า ประเทศสิงคโปร์ ได้มีวาระพิเศษที่ถูกจัดขึ้นในช่วงกาล่าดินเนอร์ นั่นก็คือ การประกาศและมอบรางวัลอันทรงเกียรติ Malcolm S. Forbes Lifetime Achievement แก่ ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์  แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมีนายสตีฟ ฟอร์บส  ประธานกรรมการและบรรณาธิการบริหารของ Forbes Media  และนายคริสโตเฟอร์ ฟอร์บส รองประธานกรรมการ Forbes Media  เป็นผู้มอบรางวัลด้วยตัวเอง ท่ามกลางสักขีพยานที่เป็นซีอีโอชั้นนำจากทั่วโลกจำนวนมากกว่า 450 คน  รวมถึงมีครอบครัวเจียรวนนท์ และผู้บริหารเครือฯ ที่เดินทางไปร่วมแสดงความยินดีด้วย ได้แก่ คุณวรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ คุณศุภชัย และคุณบุษดี เจียรวนนท์ ภริยา ดร.สารสิน วีระผล ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ คุณสุภาวดี ผลพิรุฬห์ และคุณสันติพงศ์ เจียรวนนท์ รอสส์

มิสเตอร์สตีฟ ฟอร์บส ประธานกรรมการและบรรณาธิการบริหารของ Forbes Media ได้กล่าวเชิดชูท่านประธานอาวุโสธนินท์ว่า “ในรอบ 6 ทศวรรษในการทำธุรกิจ ของประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ให้กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ จากธุรกิจครอบครัวที่เริ่มต้นจากธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย จนเป็นธุรกิจครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรมที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและมีความน่าสนใจมาก ตั้งแต่ธุรกิจเกษตรและร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงธุรกิจโทรคมนาคม ยา และบริการทางการเงิน ประธานอาวุโสธนินท์เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจและเป็นที่น่าเคารพของนักธุรกิจในเอเชีย ถือเป็นบุคคลที่น่ายกย่องอย่างมาก”

หลังจากนั้นท่านประธานอาวุโสได้แสดงความขอบคุณและกล่าวต่อว่า “ผมขอขอบคุณ Forbes ที่มอบรางวัลนี้ให้กับชีวิตการทำงานของผม ผมเชื่อว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด การเปิดโอกาส เปิดเวทีให้คนดีและคนเก่งได้แสดงความสามารถเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการสร้างและแบ่งปันคุณค่า ทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมได้”

นอกจากนี้ท่านประธานอาวุโสธนินท์ยังได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำธุรกิจตั้งแต่อายุเพียง 25 ปี และการได้รับโอกาสให้ขับเคลื่อนงานสำคัญตลอดช่วงชีวิตการทำงาน การนำธุรกิจผ่านวิกฤตต้มยำกุ้ง ความยากลำบากในช่วงโควิด โดยได้แบ่งปันปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือการสร้างประโยชน์ให้กับทุกประเทศที่ไปลงทุน สร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภค ประชาชนในประเทศนั้น สุดท้ายองค์กรก็จะได้รับประโยชน์ โดยประธานอาวุโสธนินท์ ยังได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนธุรกิจอนาคตที่เปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ ได้ขับเคลื่อนธุรกิจ ให้อำนาจในการตัดสินใจ และบทบาทส่วนตัวของประธานอาวุโสธนินท์ในฐานะประธานอาวุโสในการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ รวมถึงทำเรื่องใหม่ ซึ่งย้ำว่า การทำงานเป็นเหมือนการเล่นกีฬา ที่มีความท้าทาย ต้องคิดว่าปัญหาเป็นความท้าทาย ต้องสนุกในการแก้ปัญหา และต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“หากคุณต้องการลงทุนในต่างประเทศ การลงทุนนั้นจะต้องมีส่วนช่วยในประเทศนั้น และคุณต้องการสร้างธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศนั้น” ท่านประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เผยเคล็ดลับการลงทุนของซีพีบนเวทีการประชุม #ForbesGlobalCEO ระหว่างการสนทนากับนายสตีฟ ฟอร์บส

“ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร อาหารเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้คน เราจัดหาพลังงาน อาหาร โทรคมนาคม และความบันเทิงให้กับผู้คน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับผู้คน”  ท่านประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงธุรกิจของเครือฯในการประชุม #ForbesGlobalCEO

ทั้งนี้ ผู้ได้รับรางวัล MALCOLM S. FORBES LIFETIME ACHEIVEMENT ในอดีต ได้แก่ ลี กา-ชิง ประธานกรรมการ Cheung Kong (Holdings) และ Hutchison Whampoa (2006), แซม รอบสัน วอลตัน ประธานกรรมการคณะกรรมการของ Wal-Mart Stores Inc (2009), คาร์โลส สลิม เฮลู ประธานกรรมการ Fundacion Telmex, Fundacion Carlos Slim, Impulsora del Desarrollo del Empleo en America Latina และ Cicsa (2010) และ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้ง Alibaba Group (2019) ฯลฯ

อนึ่ง Malcolm S. Forbes Lifetime Achievement Award เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลที่มีผลงานและความสำเร็จน่าประทับใจตลอดชีวิต โดยที่มาของรางวัลถูกตั้งชื่อตาม Malcolm S. Forbes ทายาทรุ่นที่ 2 ของ Forbes Media สื่อชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนาย Malcom เป็นบิดาของสตีฟ ฟอร์บส ประธานกรรมการของฟอร์บส

โดย ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ได้รับการพูดถึงจากนิตยสารฟอร์บส์ในเรื่องของการทำธุรกิจให้เติบโตขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจระดับโลกที่มุ่งมั่นด้านความยั่งยืน และมีการขยายธุรกิจไปยังทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยบนเวทีระดับโลก โดยยึดมั่นในหลักการ 3 ผลประโยชน์มาโดยตลอดการทำธุรกิจ ในแต่ละประเทศที่กลุ่มดำเนินธุรกิจ จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนก่อน จึงจะคำนึงถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจ

ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ ได้รับการยอมรับในระดับโลก จากความพยายามในการส่งเสริมการพัฒนาประเทศ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยได้รับการยกย่องจากสื่อในประเทศจีนว่า “เป็นเพื่อนต่างชาติที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของจีน” เนื่องจากเครือซีพีมีส่วนช่วยในการพัฒนาการเกษตรและอาหารของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตโปรตีนจากสัตว์ และเป็นนักลงทุนต่างชาติรายแรกในจีนภายใต้โครงการปฏิรูปและเปิดประเทศ จากการตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1970

เป้าหมายในอนาคตของ ท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ คือดำเนินธุรกิจเพื่อท้าทายต่อปัญหาด้านความยั่งยืนระดับโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การลดความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนเป้าหมาย SDGs พร้อมมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่ 50 ล้านคน สร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการเข้าถึงโภชนาการสำหรับ 10 ล้านคน และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ให้สำเร็จภายในปี 2573

โดยปัจจุบันเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีการดำเนินธุรกิจใน 8 สายธุรกิจหลัก ครอบคลุม 14 กลุ่มธุรกิจ ใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ คือ ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและดิจิทัล ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ ไปจนถึงธุรกิจการเงินและการธนาคาร โดยมีจำนวนพนักงานทั่วโลก 441,606 คน มีรายได้รวม 2,902,000 ล้านบาทในปี 2565 ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความรู้ ความสามารถ และสนับสนุนสังคมและชุมชนในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมกับลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยจากรายงานความยั่งยืนประจำปี 2565 กลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนคือเกษตรกร  1,061,524 คน ผู้ประกอบการรายย่อย  892,715 คน กลุ่มเปราะบาง 192,525 คน และมีเด็ก เยาวชน ผู้ยากไร้ และผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงได้รับโอกาสในการเข้าถึงอาหารปลอดภัย 5,218,867 คน หรือเทียบเท่า 2,658,375 คน

ที่มาของภาพ: https://twitter.com/ForbesAsia