ลุยกันเลย! Easy E-Receipt ช้อปลดหย่อนภาษี 2567 สูงสุดคนละ 50,000 บาท

เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับมาตรการช้อปกระหน่ำ แถมได้ลดหย่อนภาษี “Easy E-Receipt” (อีซี่ อี-รีซีท) เป็นมาตรการที่ให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือผู้ประกอบการทั่วไปเฉพาะค่าซื้อหนังสือ e-Book และสินค้า OTOP ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยต้องมีหลักฐานใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

 

คุณสมบัติ Easy E-Receipt ใครบ้างได้สิทธิ?

  • ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึง ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
  • ผู้ที่มีสิทธิได้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สามารถเข้าร่วม Easy E-Receipt ได้

 

เงื่อนไขใช้สิทธิ Easy E-Receipt

  • ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2567
  • ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท
  • ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
  • ต้องมีหลักฐานใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

 

Easy E-Receipt ซื้ออะไรได้บ้าง?

  • ซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

 

เช็กรายการสินค้าที่ไม่เข้าร่วม Easy E-Receipt ได้แก่

  1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  2. ค่าซื้อยาสูบ
  3. ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  4. ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
  5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  6. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

 

Easy E-Receipt ใช้จ่ายในปีภาษี 2567 (1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567) โดยนำไปยื่นภาษีช่วงต้นปี 2568 มี 2 ช่องทาง ดังนี้

  1. ยื่นภาษีในรูปแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ใกล้บ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2568
  2. ยื่นภาษีในรูปแบบออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-8 เม.ย. 2568

 

คุณสมบัติร้านค้าผู้ประกอบการ Easy E-Receipt หรือเป็นผู้ขายสินค้า

  1. ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
  2. ผู้ประกอบการทั่วไปขายหนังสือ e-Book และสินค้า OTOP
  3. สามารถออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice and e-Receipt หรือ ระบบ e-Tax Invoice by Email

ที่มา เดลินิวส์