ตลาดรถยนต์เปลี่ยนไป เมื่อ EV มาถึงไทยเร็วกว่าที่คาด เทียบความต่าง 5 ปีที่แล้วกับวันนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้าง ‘ไทย’ น่าสนใจอย่างไร ทำไมหลายค่ายตั้งฐานผลิต

HIGHLIGHTS

  • ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2022 อยู่ที่ราว 10.6 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 60% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยรถยนต์สันดาปทั่วโลกลดลงอยู่ที่ 63.2 ล้านคัน ซึ่งเป็นตัวเลขการผลิตที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2017 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่มียอดการผลิตรถยนต์สันดาปอยู่ที่ 85 ล้านคัน และเป็นตัวเลขที่สวนทางกับยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
  • ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากงานมอเตอร์โชว์ปีนี้ หลายค่ายเปิดตัวรุ่นใหม่ จัดตั้งธุรกิจในไทย พร้อมสาดโปรโมชันกระหน่ำ โดยข้อมูลกรมการขนส่งทางบกเผยยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในไทยมีจำนวนกว่า 36,775 คันแล้ว
  • ttb analytics ประเมินปี 2023 ยอดขายรถยนต์นั่ง EV โต 3 เท่า หรือแตะ 40,000 คัน ชี้กว่าไทยจะเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกอาจใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี แนะผู้ผลิตบุกภาคธุรกิจ หนุนคุ้มทุนเร็วขึ้น
  • การถือกำเนิดของ EV ยังสร้างธุรกิจเกี่ยวเนื่องใหม่ๆ ขึ้นด้วย ตัวอย่างที่เห็นชัดสุดคือ ‘ฮ้อปคาร์’ แอปพลิเคชันแพลตฟอร์ม Mobility for Everyone ให้บริการเช่ารถยนต์ส่วนตัวแบบคาร์แชริ่ง (Car Sharing) เป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่กำลังมาแรงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยจุดเด่นคือมาช่วยแก้ Pain Point ที่ว่า อยากขับรถก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของรถ
  • รวมไปถึงบริษัทประกัน โดยมีบริษัทซันเดย์ ดึงเทคโนโลยี AI ช่วยคำนวณเบี้ยประกัน ออกแบบราคาเบี้ยของแต่ละคนตามความเสี่ยง สามารถปรับ เสริม เติมแต่ง ลดได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ลูกค้าได้รับราคาสมเหตุสมผล

อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกในฐานะฐานผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์มาอย่างยาวนาน จึงไม่น่าแปลกใจนักเมื่อภาพรวมตลาดรถยนต์ทั่วโลกเปลี่ยนไป ฐานผลิตชิ้นส่วนอย่างประเทศไทยจึงถูกตั้งคำถามถึงความอยู่รอดไปด้วย

ความท้าทายหลักของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยก็คือการถือกำเนิดขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะหลายชิ้นส่วนประกอบที่ประเทศไทยเคยเป็นฐานผลิตใหญ่อาจจะหายไปจากความต้องการในตลาด อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชี่ยวชาญในตลาดนี้มาอย่างยาวนาน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ต่างก็ปรับตัว กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจต่างๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายครั้งนี้ และพลิกให้เป็นวิถีแห่งโอกาส ซึ่งมีหลายบริษัทสามารถเข้าสู่น่านน้ำนี้ในฐานะผู้ชนะแล้ว THE STANDARD WEALTH จึงพาสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ และมองไปถึงแนวโน้มการเติบโตในอนาคต

 

เทียบ 5 ปี ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตกระโดด 60% 

กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า หากดูตัวเลขปัจจุบันภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2022 อยู่ที่ราว 10.6 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 60% ถ้าเทียบกับปีก่อนหน้า

ในส่วนของรถยนต์สันดาปภายในทั่วโลกอยู่ที่ 63.2 ล้านคัน หากเทียบกับยอดจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายในปี 2017 อยู่ที่ 85 ล้านคัน เพราะฉะนั้นเราเห็นเทรนด์การใช้รถยนต์สันดาปภายในลดลง และหากดูจากสัดส่วนของปีที่แล้ว 7 ต่อ 1 รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 1 ใน 7 คันคือรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว

“สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนด้วยรถยนต์พลังงานสะอาด โดยมีกรรมการและสมาชิกของสมาคมมาร่วมทำงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งในด้านการศึกษา การสนับสนุนด้านความรู้แก่ผู้บริโภค และการพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

 

นโยบายรัฐ-แรงผลักดันเอกชน ช่วยสร้างการเติบโต 

สำหรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV ในไทย ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก โดยอ้างอิงจากตัวงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่ารถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจมากขึ้น ประกอบกับการขยายตัวเพิ่มขึ้นของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ ที่มาเข้าร่วมงานเพื่อเปิดตัวสินค้า

ขณะที่มุมมองของผู้จัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ก็เชื่อมั่นว่า การให้ความรู้ด้านโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เป็นหนึ่งในพันธกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ และเพื่อสร้างโอกาสในด้านธุรกิจใหม่ๆ ให้ผู้ที่สนใจไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐก็มีผลต่อการเติบโตของทั้งอุตสาหกรรม โดย จาตุรนต์ โกมลมิศร์ รองประธานจัดงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า หลังจากภาครัฐประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2065 นับว่ายังมีความท้าทายอย่างมาก เพราะการที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ทุกๆ ภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันใช้พลังงานสะอาด ทั้งในภาคการผลิตและการคมนาคม

 

ttb analytics คาดปี 2023 ยอดขายรถยนต์นั่ง EV โต 3 เท่า

ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินการแข่งขันในตลาดรถยนต์ EV (Electric Vehicle: EV) ทั่วโลกมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การแข่งขันของตลาดรถยนต์ทั่วโลกเปลี่ยนไปเมื่อ EV มาเร็วกว่าคาด หลังผู้ผลิตหลายรายปรับลดราคาขายลงเฉลี่ย 2-10% ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถ EV เร็วขึ้นอย่างมีนัย เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ยอดจดทะเบียนรถ EV เพิ่มขึ้นถึง 17 เท่า ภายในเวลาเพียง 3 ปี และคาดว่าในปี 2023 ยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่ง EV จะสูงถึง 40,812 คัน หรือขยายตัว 321.7% ส่วนหนึ่งจากแรงสนับสนุนของภาครัฐที่ตั้งเป้าให้ไทยผลิตรถยนต์ EV ให้ได้ 30% ภายในปี 2030

แต่ในระยะเริ่มต้น ไทยอาจต้องพึ่งการนำเข้าจากจีนมาจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ก่อนที่จะสามารถผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศได้ในช่วงปี 2024-2025 ซึ่งจะทำให้การผลิตเพื่อส่งออกอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3-5 ปี ฉะนั้นค่ายรถที่จะลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในไทยจำเป็นต้องบุกภาคธุรกิจมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้มากพอจนสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น

“ไทยยังมีความน่าสนใจในการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ EV ในสายตานักลงทุนจีนอยู่ โดยการลงทุนรถยนต์ EV ในไทยมีส่วนช่วยกระจายความเสี่ยงจากประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เลี่ยงการแข่งขันในตลาดรถยนต์ EV ในจีนที่รุนแรง อีกทั้งยังสามารถต่อยอดห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่แข็งแกร่ง”

แม้กระแสรถยนต์ EV (Demand) ในไทยดูจะร้อนแรงไม่น้อย แต่ด้วยปริมาณขายและรุ่นรถ (Supply) ที่ออกจำหน่ายในประเทศยังค่อนข้างจำกัด ทำให้ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ EV ไทยยังต่ำกว่าหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้น ttb analytics มองว่า การที่ Adoption Rate ของไทยจะเร่งขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องอาศัย ‘Supply Leads Demand’ หรือการพัฒนาของบริษัทผู้ผลิตอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้มีปริมาณรถยนต์ EV ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น รองรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่พร้อมจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ EV ทว่าในระยะเริ่มต้นของการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในประเทศ ผู้ผลิตจำเป็นต้องขยายไปยังภาคธุรกิจ (Corporate) ทั้งทางตรงและทางอ้อมมากขึ้น อาทิ ธุรกิจรถเช่า EV (Fleet) ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อให้ปริมาณรถยนต์ EV ที่จะผลิตและจำหน่ายในประเทศมากพอจนเข้าสู่ระดับเต็มศักยภาพ (Full Capacity) ซึ่งจะช่วยให้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ EV ในประเทศถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น

 

มาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI และแพ็กเกจดึงดูดนักลงทุน

ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า ปัจจุบันมีค่ายยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย ได้แก่

  1. กลุ่ม ‘Foxconn’ จากไต้หวัน ร่วมทุนกับ ปตท.
  2. NETA รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน อยู่ภายใต้บริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด
  3. BYD โดย BYD Thailand ตั้งฐานการผลิตและส่งออกในภูมิภาคอาเซียนและยุโรป
  4. MG ถือเป็นบริษัทจากจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด และมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี ในไทย เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าทั้งปลั๊กอินไฮบริดและ MG พลังงานไฟฟ้า 100% EV
  5. Great Wall Motor เข้ามาทำตลาด EV และสร้างโรงงานอัจฉริยะ ตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาในภูมิภาคอาเซียน
  6. GAC AION ซึ่งเป็นรายใหม่ล่าสุดเบอร์ 3 จากจีน มีแผนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในไทยให้ได้ 1 แสนคันต่อปี และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการผลิตแบตเตอรี่ 6.4 พันล้านบาท

เสียงตอบรับจากบรรดานักลงทุนต่างมองว่า นอกจากภาครัฐมีนโยบาย ‘30@30’ ที่ตั้งเป้าจะมีการผลิตรถ EV ให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ยังมีมาตรการสนับสนุนทั้งห่วงโซ่ เพื่อให้เกิดการผลิตและการใช้รถ EV ในประเทศมากขึ้น โดยมีทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI และแพ็กเกจส่งเสริมการใช้และการผลิตรถ EV ทั้งลดภาษีสรรพสามิต ลดอากรขาเข้า และให้เงินอุดหนุนสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน

โดยทั้งหมดนี้ล้วนสร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุน กระทั่งล่าสุดมีผู้ประกอบการมายื่นคำขอส่งเสริมมากถึง 1.4 แสนล้านบาท

อีกมุมหนึ่ง ปริญ กัญจนาทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซินเนอร์ยี่ซัน จำกัด มองว่า นอกจากรถยนต์ ธุรกิจการติดตั้งโซลาร์เซลล์และกรีนเอเนอร์จี้ได้รับความนิยมเช่นกัน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีมากขึ้นภาครัฐก็ต้องเพิ่มโรงไฟฟ้ามากขึ้นตาม และผู้ใช้รถยนต์ EV ใช้ไฟบ้าน ดังนั้นจึงมีส่วนกระตุ้นภาคประชาชนที่อยากแบ่งเบาภาระนี้ หรือ Decentralized Energy โดยการติดตั้ง Solar Rooftop และที่สำคัญ พฤติกรรมของผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์มักจะคอยเฝ้าดูเสมอว่าวันนี้บ้านใช้พลังงานเท่าไร โซลาร์เซลล์วันนี้ผลิตได้เพียงพอหรือไม่ จนเกิดพฤติกรรมอนุรักษ์และบริหารจัดการพลังงานของตัวเองตามไปด้วย

 

‘ฮ้อปคาร์’ อีกหนึ่งโมเดลธุรกิจใหม่จาก EV 

นอกจากนี้ การถือกำเนิดของ EV ยังทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวเนื่องนอกจากการผลิตรถยนต์ตามมา เช่น ธุรกิจแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนประกอบ และสถานีชาร์จ รวมถึงซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชันแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับ EV อย่างธุรกิจสตาร์ทอัพ ‘ฮ้อปคาร์’ แพลตฟอร์มที่ให้บริการคาร์แชริ่ง จอง และปล่อยเช่ารถ EV

กฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจฮ้อปคาร์เป็นโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่ “ตอบสนองการใช้ชีวิตวิถีคนเมือง” ในปัจจุบันที่ใช้รถยนต์ EV โดยการลงทุนซื้อรถยนต์ไม่เป็นเพียงเพื่อใช้งานเอง แต่ฮ้อปคาร์ยังเปลี่ยนให้เป็นการลงทุนในธุรกิจคาร์แชริ่งได้อีกด้วย

ที่น่าสนใจอีกประการคือข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า คาร์แชริ่งหนึ่งคันจะสามารถช่วยลดจำนวนรถในพื้นที่นั้นๆ ลงได้ 6-10 คัน พื้นที่ที่เหลือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้ เช่น ช่องทางจักรยาน พื้นที่ทางเท้า

“ตอนนี้มีการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาให้บริการผ่านแพลตฟอร์มของเรา ซึ่งเราเห็นถึงแนวโน้มของความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยลูกค้าส่วนใหญ่สนใจเช่ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อทดลองใช้งานโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อ เพื่อให้แน่ใจว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นตอบโจทย์การใช้ชีวิตในสังคมเมือง ทำให้อัตราการเช่ารถยนต์ระบบไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามไปด้วย” กฤษฏิ์กล่าว

ปัจจุบันบริการคาร์แชริ่งของฮ้อปคาร์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่เน้นความสะดวกสบายในการใช้รถเพื่อการเดินทางในภารกิจในแต่ละวัน โดยฮ้อปคาร์มีจุดให้บริการลูกค้ามากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ และมีรถพร้อมให้บริการมากกว่า 2,000 คัน จากพาร์ตเนอร์มากกว่า 500 ราย โดยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าและรถเครื่องยนต์สันดาปภายในตั้งแต่ขนาดเล็กกะทัดรัดไปจนถึงรถขนาดใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

“รูปแบบโมเดลทางธุรกิจช่วยลูกค้ากลุ่มที่ต้องการมีรายได้จากการปล่อยเช่ารถยนต์มาพบกับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการใช้รถยนต์ที่มีความสะดวก ทันใจ และปลอดภัย ไร้สัมผัสทุกขั้นตอน ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน HAUP ได้ง่ายๆ เพียงแค่สมัครลงทะเบียน กดเลือกวัน เวลา จุดรับรถ และรุ่นรถยนต์ที่ต้องการใช้งาน เมื่อไปถึงรถตามเวลาที่จองไว้ สามารถปลดล็อกรถผ่านมือถือหรือบัตร HAUPCARD ได้ด้วยตนเอง ตามหลักปรัชญาการให้บริการลูกค้าที่ชัดเจนเรื่อง Mobility for Everyone เราอยากให้การเดินทางเป็นเรื่องง่ายและสะดวกที่สุดสำหรับทุกคน” กฤษฏิ์กล่าว

 

ธุรกิจ Charging Station ระบบ Smart Charging เติบโต

เช่นเดียวกับ พูนพัฒน์ โลหารชุน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด เล่าถึงธุรกิจ Charging Station ว่า ปัจจุบันสถานีอัดประจุไฟฟ้าเติบโตเช่นกัน หากอ้างอิงข้อมูลตัวเลขจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในประเทศไทยเรามีประมาณ 3,000 กว่าหัวจ่าย ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา มีจำนวนกว่า 32,000 คัน เท่ากับว่าสถานีอัดประจุไฟฟ้าคิดเป็น 10% ของตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่

ขณะที่งานวิจัยในประเทศไทยระบุว่า ตามลักษณะที่อยู่อาศัยในประเทศที่มีทั้งบ้านเรือน คอนโด อาคารสำนักงาน เหมาะที่จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 10% ถือว่าเพียงพอ

“ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างรวดเร็ว ปีนี้อาจจะแตะหลัก 50,000 คัน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นโอกาสในการขยายตัวของสถานีชาร์จไฟฟ้าในอนาคตที่จะต้องขยายตัวตามจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้สอดคล้องกัน” พูนพัฒน์กล่าว

ขณะที่ จาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจและบริการ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) กล่าวว่า MEA ได้มีการออกแบบระบบ Smart Charging สำหรับบ้านอยู่อาศัย เพื่อลดปัญหาการเกิด Overload ของระบบจำหน่าย นอกจากนี้ยังแนะนำให้ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV ในช่วงกลางวันเพื่อนำไปใช้ชาร์จ EV ในช่วงหัวค่ำที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง รวมถึงการติดตั้งสถานีชาร์จ EV เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ต่างๆ พร้อมกับการสร้าง MEA EV Application เพื่อให้บริการประชาชน

 

ดึง AI เข้ามาคำนวณเบี้ยประกัน

ทางด้าน สุรเดช พานิช ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล บริษัท ซันเดย์ อินส์ จำกัด กล่าวว่า เมื่อพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า คงจะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงประกัน โดยบริษัทซันเดย์เป็นอินชัวร์เทคที่นำเทคโนโลยีและประกันมารวมกัน เพื่อยกระดับการให้บริการ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ประกันและการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะแตกต่างจากประกันทั่วไปที่ราคาเบี้ยจะถูกหารจากความเสี่ยงของทุกคน แต่ที่ซันเดย์จะใช้ AI เข้ามาคำนวณเบี้ยประกัน โดยราคาเบี้ยของจะถูกออกแบบผ่านความเสี่ยงของแต่ละคน

โดยการคำนวณค่าเบี้ย (Pricing Engine) เราทำในรูปแบบของ ‘เลโก้’ นั่นหมายความว่าเราสามารถปรับ เสริม เติมแต่ง ลดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการใช้รูปแบบนี้จะส่งผลให้ลูกค้าได้รับราคาเบี้ยประกันที่สมเหตุสมผล และเป็นราคาเบี้ยที่ถูกออกแบบมาเพื่อทุกคน แต่ละคนโดยเฉพาะ โดยในปัจจุบันซันเดย์รองรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 2 แบรนด์ ได้แก่ MG และ ORA ซึ่งในอนาคตเรามีแผนที่จะขยายการรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าอีกมากมาย