พาณิชย์เผย เงินเฟ้อเดือน ก.พ. ลดลง 0.77% ติดลบเป็นเดือนที่ 5 ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำสุดรอบ 24 เดือน เป็นผลจากอะไร?

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (Headline CPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลง 0.77% (YoY) นับเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยอัตราดังกล่าวต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเดือนที่ 10 แล้ว

ขณะที่ เงินเฟ้อ พื้นฐาน (Core CPI) เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกยังเป็นบวกอยู่ที่ 0.43% (YoY) แต่ก็ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 0.52% และนับเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 24 เดือน หรือต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565

เงินเฟ้อไทยต่ำมาจากอะไร

พูนพงษ์ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตรา เงินเฟ้อ ไทยยังคงติดลบมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • ราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์และผักสด ที่มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก
  • ราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้า ราคายังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ
  • ปัจจัยฐานราคาเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง

CIMB มองดีมานด์แผ่วอีก ปัจจัยฉุดเงินเฟ้อ

ขณะที่ ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่าเงินเฟ้อทั่วไปไทยมีโอกาสติดลบต่อ 1-2 เดือนเท่านั้น หากพิจารณาจากฐานที่สูงในปีก่อนและมาตรการพยุงค่าครองชีพต่างๆ โดยในช่วงกลางถึงปลายปีเงินเฟ้อไทยก็มีโอกาสกลับมาพลิกบวกได้

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอาจอยู่ในระดับต่ำ หรืออยู่ในช่วงกรอบเป้าหมายล่างของ ธปท.

นอกจากนี้ ดร.อมรเทพ ยังระบุว่า ตนเห็นต่างกับ ธปท. ในประเด็นเรื่องอุปสงค์ (Demand) โดยมองว่าอุปสงค์ในประเทศไม่ได้แข็งแรงอย่างที่ ธปท. มอง และเป็นอีกหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบ

“การชะลอตัวของอุปสงค์ (Demand) ในประเทศทำให้การขยับขึ้นของราคาทำได้ยาก” ดร.อมรเทพกล่าว

อย่างไรก็ดี ดร.อมรเทพ ยังไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดที่รุนแรง เนื่องจากพัฒนาการตัวเลข CPI เมื่อเทียบเป็นรายเดือน (MoM) สะท้อนภาพได้ว่าเงินเฟ้อของไทยไม่ได้อยู่ในลักษณะไหลลงดิ่ง

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ (MoM) ยังขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.22%

เงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มลบตลอดไตรมาสแรก

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2567 กระทรวงพาณิชย์มองว่ามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

  • มาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน โดยการตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่ 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และที่ 4.18 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนทั่วไป รวมทั้งมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567
  • ฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้าของเนื้อสุกรและผักสด
  • เศรษฐกิจของไทยขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
  • เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีราคาสูงขึ้น
  • สภาพอากาศที่มีความแปรปรวนในช่วงท้ายของปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมทั้งการเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร
  • การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุปสงค์และราคาของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างติดลบ 0.3% ถึง 1.7% (ค่ากลาง 0.7%)

วิเคราะห์นัยต่อนโยบายการเงิน

ดร.อมรเทพ ระบุอีกว่า ตัวเลขที่ออกมาน่าจะเป็นแรงกดดันต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อยู่ โดยในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 10 เมษายน อาจจะเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

“ต้องรอดูตัวเลขเงินเฟ้อที่จะออกมาในช่วงต้นเดือนเมษายน และตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนของ ธปท. อีกที เนื่องจากตัวเลขรายเดือนมกราคมของ ธปท. ยังไม่สวยหรูเท่าไร เรียกว่ายังซึมๆ อยู่ในด้านการใช้จ่ายภาคเอกชน”

ดร.อมรเทพ ยังยืนยันว่าการลดดอกเบี้ยไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้เต็มที่ เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างยังมีอยู่ เช่น การขาดการลงทุนและภาคการผลิตก็ไม่ได้อาศัยนวัตกรรมที่สูง

พร้อมทั้งกังวลว่า หาก ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยในจังหวะที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการอ่อนค่าของเงินบาทได้

ที่มา THE STANDARD