คนไทยอ่านหนังสือมากกว่า 8 บรรทัดต่อปีแล้ว! ผลสำรวจชี้ คนไทยอ่านเฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อวัน พบผู้สูงอายุชอบอ่าน e-Book ส่วนวัยรุ่นหันมาอ่านหนังสือเล่ม

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยถึงความสำเร็จของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 12 วัน โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน และมีเม็ดเงินสะพัดในงานมากกว่า 400 ล้านบาท เติบโต 10% แม้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว สะท้อนให้เห็นถึงกระแสความนิยมในการอ่านหนังสือที่เพิ่มสูงขึ้นในหมู่คนไทย

หนังสือที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็นหนังสือนวนิยายและวรรณกรรม สัดส่วน 38% โดยหนังสือวายทุกประเภทเนื้อหาได้รับความนิยมสูงสุด 21% รองลงมาคือ หนังสือการ์ตูนและไลต์โนเวล 21% หนังสือประเภทเสริมทักษะ (How to) 18% หนังสือเด็กและคู่มือการเรียน 13% และหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ 10%

สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าวว่า ความสำเร็จของงานครั้งนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือของสำนักพิมพ์ 322 แห่ง กว่า 900 บูธ ที่นำหนังสือมากกว่า 1 ล้านเล่มมาจำหน่าย โดยมีหนังสือใหม่กว่า 3,000 ปก และได้รับความสนใจจากผู้ซื้อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

“ความสำเร็จของงานจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันมูลค่าตลาดหนังสือไทยในปีนี้ให้แตะระดับ 17,000 ล้านบาท และแสดงให้เห็นว่า คนไทยอ่านหนังสือมากกว่า 8 บรรทัดต่อปีแล้ว”

การเติบโตของตลาดหนังสือไทยยังมีแนวโน้มที่ดีเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจในโครงการวิจัยพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือของคนไทย ในปี 2567 ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมกับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทุกเพศวัยจำนวน 2,550 คนทั่วประเทศ อายุตั้งแต่ 12-50 ปี ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567

ผลสำรวจพบว่า คนไทยมีพฤติกรรมการอ่านรวมทุกกลุ่มอายุเฉลี่ย 113 นาที หรือเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งผิดไปจากที่เคยเข้าใจกันมาว่า คนไทยอ่านหนังสือเพียงแค่ 8 บรรทัดต่อปี

โดยสัดส่วน 45% เป็นการอ่านทุกวัน โดยกลุ่มอายุ 12-19 ปี อ่านตำราเรียนและคู่มือเตรียมสอบในสัดส่วนที่สูงถึง 72% ส่วนอายุ 20-29 ปี, 30-39 ปี และ 40-49 ปี อ่านหนังสือพัฒนาตัวเองสูงที่สุดในสัดส่วน 52%, 57% และ 51% ตามลำดับ ส่วนกลุ่ม 50 ปีขึ้นไป 58% อ่านหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ

ที่น่าสนใจคือ ผู้สูงอายุกลับนิยมอ่านหนังสือในรูปแบบ e-Book มากกว่าเยาวชน เนื่องจากปรับขนาดตัวหนังสือได้ ในขณะที่วัยรุ่นหันมาอ่านหนังสือรูปเล่มมากขึ้น เพื่อลดการใช้หน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ความสำเร็จอย่างท่วมท้นของงานสัปดาห์หนังสือฯ และข้อมูลจากงานวิจัย ทำให้สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มีแผนที่จะขยายพื้นที่งานสัปดาห์หนังสือฯ ให้ใหญ่ขึ้นในอนาคต เพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

การที่สำนักพิมพ์ต่างๆ งัดกลยุทธ์กระตุ้นกำลังซื้อผ่านโปรโมชันลด แลก แจก แถม และของพรีเมียมสุดพิเศษ จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ตลาดหนังสือไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แสดงให้เห็นว่า หนังสือยังคงเป็นสินค้าที่มีมูลค่าและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แม้จะมีทางเลือกในการอ่านผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลหลากหลายขึ้น แต่หนังสือรูปเล่มก็ยังมีพื้นที่ทางการตลาดที่มั่นคง

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ธุรกิจหนังสือของไทยมีอนาคตที่สดใส โดยมีปัจจัยด้านบวกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของพฤติกรรมการอ่าน ประสิทธิผลของกลยุทธ์การตลาด และการปรับตัวของผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถดึงดูดผู้บริโภคทั้งกลุ่มที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือรูปแบบดั้งเดิม และกลุ่มที่คุ้นชินกับการอ่านในแพลตฟอร์มดิจิทัล ส่งผลให้ตลาดหนังสือมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของหนังสือรูปเล่มและ e-Book