ทำไมการท่องเที่ยวไทยฟื้น แต่เศรษฐกิจยังคงชะลอตัว

นับจากช่วงต้นปี 2023 หลายฝ่ายคาดว่า ‘ภาคการท่องเที่ยว’ จะเป็นเครื่องยนต์หลักที่กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เพราะเห็นการเปิดประเทศของจีนซึ่งเร็วกว่าที่คาด และมองว่าการบริโภคในประเทศจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องตามรายได้จากภาคการท่องเที่ยว

แต่ปัจจุบันกลับพบว่าสัญญาณเศรษฐกิจหลายอย่างเริ่มชี้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อ่อนแอลงกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งเมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา ทาง  KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร คาดว่า GDP ไทยปี 2023 จะอยู่ที่ 3.6% แต่ในช่วงเดือนมี.ค. เริ่มปรับคาดการณ์ลงมาสู่ระดับ 3.3% และคงตัวเลขนี้ไว้ถึงปัจจุบัน รวมถึงยังคงมุมมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยัง “ไม่ทั่วถึงและไม่เท่ากัน”

จากต้นปีถึงปัจจุบันอะไรที่ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจชะลอตัวต่ำคาด?

1. รายได้จากภาคการท่องเที่ยวไม่กระจายไปภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามที่คาด

แม้ปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยว ม.ค.-พ.ค. 2023 จะอยู่ที่ 11 ล้านคน ดูเหมือนจะฟื้นตัวได้ดี แต่ถือว่ายังเป็นระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อน COVID-19 เท่านั้น ขณะเดียวกันกลับเห็นสัญญาณในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ไม่ฟื้นตัวได้ดีนัก เช่น ตัวเลขการบริโภคในหมวดสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช้บริการยังชะลอตัว ทั้งนี้มาจากภาคการท่องเที่ยวของไทยอาจเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจและพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ต่ำ รวมถึงมีส่วนต่อรายได้ของแรงงานไทยราว 11% เท่านั้น

2. การปล่อยสินเชื่อชะลอตัวลง และหนี้เสียในภาคธนาคารที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตของการบริโภค

ในไตรมาส 1 ปี 2023 ที่ผ่านมา สินเชื่อในภาพรวมเติบโตเพียง 0.6% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยมีสาเหตุจาก

(1) หนี้ครัวเรือนไทยที่ปรับสูงขึ้นเกินกว่า 80% ของ GDP เป็นระดับที่เริ่มจะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจ
(2) การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยดอกเบี้ยในปัจจุบันปรับสูงขึ้นมากกว่ารายได้
(3) ปัญหาหนี้เสียในประเทศที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่ การเติบโตของสินเชื่อจะติดลบในช่วงครึ่งปีหลังนี้

ทั้งนี้ ด้วยวัฎจักรสินเชื่อขาลงจะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อการเติบโตของการบริโภค เช่น หากผู้บริโภคต้องจ่ายหนี้เพิ่มขึ้น จะเหลือเงินสำหรับการบริโภคน้อยลง

3. เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่ตลาดคาด

โดยตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดทั้งการบริโภคและการลงทุนของจีนมีสัญญาณชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งคาดว่าจะ ส่งผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยใน 2 มิติ คือ (1) นักท่องเที่ยวจีนมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาได้ไม่ถึง 5 ล้านคนตามที่คาดไว้ในปีนี้ เพราะมีเพียงกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงที่เลือกเดินทางไปประเทศในแถบยุโรปมากกว่าอาเซียน และ (2) ช่วง 5 เดือนแรกปี 2023  การส่งออกไทยติดลบ 5.1% และคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นช้า ทำให้ KKP Research คาดการณ์ว่าการส่งออกทั้งปี 2023 ของไทยจะติดลบที่ -3.1%

 

นอกจากนี้ สัญญาณสำคัญอย่างเงินเฟ้อ ซึ่งช่วงต้นปีจะมีความกังวลว่า ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศไทยจะค้างอยู่ในระดับสูงจากเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่จากข้อมูลล่าสุดพบว่าเงินเฟ้อไทยปรับลดลงต่ำกว่าที่ประเมินยังสะท้อนว่าเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศไม่ได้เติบโตแข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ จึงมีการปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อในปี 2023 ลดลงเหลือเพียง 1.8%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงแสดงความกังวลด้านเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้นในอนาคต แต่เศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจนทำให้ KKP Research ประเมินว่าความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นมีน้อยและคงการคาดการณ์เดิมว่า ธปท. จะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นได้อีกแค่ 1 ครั้งไปที่ 2.25%

3 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังจากนี้ยังต้องระวังความเสี่ยงอีกอย่างน้อย 3 ข้อและจะทำให้เศรษฐกิจปรับตัวชะลอลงรุนแรงกว่าที่คาดไว้ ได้แก่

  1. สัญญาณการเริ่มต้นของ Deleveraging cycle เมื่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงและดอกเบี้ยขาขึ้น จะกระทบต่อภาวะการเงินและภาระหนี้ในไทยซึ่งอาจทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะการลดหนี้ ( Deleveraging cycle) ซึ่งจากงานศึกษาในอดีตพบว่าภาวะนี้มีโอกาสสูงที่จะนำสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

2. เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงชะลอตัว จากข้อมูลในอดีตพบว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐฯ มักนำสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ยังเห็นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (มากที่สุด) จะอยู่ในช่วงกลางปีถึงปลายปี 2024 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยต่อเนื่อง

3. ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะในกรณีเลวร้าย เช่น หากมีการชุมนุมประท้วงจะกระทบต่อการบริโภค การลงทุน รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย

จากทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีทั้ง ปัญหาชั่วคราว และปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งอาจกลายเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้นการชะลอตัวในภาคส่วนต่างๆ ย่อมเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่า ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทและเร่งวางแผนเพื่อกำหนดทิศทางและสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ที่มา – เกียรตินาคินภัทร (KKP)