ตลาดใหม่-สินค้าใหม่ “ทางรอด” วิกฤติ ศก.โลกทรุดทุบส่งออกไทย

การส่งออกเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ดังนั้นหากภาคการส่งออกไม่มีแข็งแรงก็เท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยก็อาจจะไม่แข็งแรงตามไปด้วย

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ภาวะการค้าระหว่างประเทศในส่วนการส่งออก 2 เดือนแรก(ม.ค.-ก.พ.) ปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 42,625.8 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 48,388.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.3 %ดุลการค้า 2 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 5,763.1 ล้านดอลลาร์

” 2 เดือนแรกของปี 2566  ไทยขาดดุลการค้าไปแล้ว 217,605 ล้านบาท เงิน 2 แสนล้านบาททำอะไรได้ตั้งเยอะ  ซึ่งสาเหตุการขาดดุลมีหลายอย่าง แต่ที่คิดออกได้ทันทีคือ การส่งออกของไทยลดลงทำให้การนำเข้าแซงหน้าและนำไปสู่การขาดดุล ดังนั้น แก้ไขให้ตรงจุดที่สุดคือ กระตุ้นการส่งออก”

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่าสำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยมีมูลค่าลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในครึ่งปีแรกจะลดลงต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเร่งประชาสัมพันธ์เชิงการค้าผ่านการจัดการแฟร์ในต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มมีมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป ทั้งตลาดตะวันออกกลาง CLMV

“การส่งออกไตรมาสแรกจะหดตัวประมาณ6-8%หลังไตรมาสแรกตัวเลขจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆและจะพลิกกลับมาเป็นบวกประมาณช่วงกลางปีเป็นต้นไป หากจะให้ถึงเป้าหมายการส่งออกที่กระทรวงเคยกำหนดไว้ที่1-2%ตัวเลขส่งออก10เดือนที่เหลือเฉลี่ยจะอยู่ที่24,700ล้าน ดอลลาร์ต่อเดือน”

สอดคล้องกับรายงาน“Asia-Pacific: China Rebound Supports Growth.”ซึ่งเผยแพร่โดยS&P Global Ratings  ที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ระบุว่าสหรัฐและประเทศในกลุ่มยุโรป จะมีเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ โดยคาดว่าจีดีพีสหรัฐจะขยายตัว 0.7% ขณะที่ยุโรปจะขยายตัวที่ 0.3%

ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ก็ยังมีโอกาสที่จะเสียจังหวะได้ หากปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆก่อตัวขึ้นและสร้างปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือ ตลาดแรงงานที่อ่อนแอ

ดังนั้น ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงไทย ควรดำเนินโยบายทางเศรษฐกิจอย่างช้าๆและคำนึงถึง 2 เรื่องสำคัญได้แก่ตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายอาจได้รับความเสียหายอย่างดิ่งลึกและถาวร และสองคือ การยกระดับตลาดส่งออกโดยมองหาส่วนแบ่งตลาดในประเทศแถบอาเซียนมากขึ้น

ปี 2566 การค้าระหว่างประเทศกำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน วิกฤตินี้อาจเป็นการสร้างโอกาสใหม่เพราะแผนงานและคำแนะนำคงไม่มีความหมายหากยังไม่ลงมือทำ การที่กระทรวงพาณิชย์มีแผนเชิงรุกเพื่อฟื้นการส่งออก

ท่ามกลางวิกฤติ อย่างเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่ก็สัญญาณที่ดีที่การส่งออกจะฟื้นตัวได้ โดยใช้คาถา “การหาตลาดใหม่ควบคู่การพัฒนาสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการตลาดนั่นเอง”

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ