ปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าไปตลาดคู่ค้า FTA กว่า 1.6 แสนล้านเหรียญ “อาเซียน” นำลิ่ว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กางสถิติการส่งออกสินค้าของไทยไปกลุ่มประเทศคู่ค้า FTA พบปี 2566 ยอดส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปเติบโตดี ปลื้มไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ยืน 1 ในอาเซียน และอันดับ 7 ของโลก แนะผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายส่งออกไปตลาดการค้าเสรี

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยไปกลุ่มประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) พบว่าในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศคู่ค้า FTA มูลค่า 167,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลงเล็กน้อย 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล
โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล

แต่หากพิจารณากลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ พบว่าสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปส่งออกไปประเทศคู่ค้า FTA ขยายตัวได้ดี โดยสินค้าเกษตร มีมูลค่า 19,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4% คิดเป็นสัดส่วนถึง 73% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด และสินค้าเกษตรแปรรูป มีมูลค่า 15,074 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% คิดเป็นสัดส่วน 67.3% ของการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งหมด ซึ่งตลาดคู่ค้า FTA ที่เป็นตลาดส่งออกหลัก อาทิ จีน ขยายตัว 11% และอาเซียน ขยายตัว 5%

สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ถือเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกสูง ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก

สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปตลาดคู่ค้า FTA ขยายตัวได้ดี อาทิ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ขยายตัว 23% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ จีน มาเลเซีย และเวียดนาม ข้าว ขยายตัว 92% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัว 19% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย กาแฟ ขยายตัว 43% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ กัมพูชา ญี่ปุ่น และจีน

น้ำตาล ขยายตัว 14% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 9% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ จีน ออสเตรเลีย และสปป.ลาว ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัว 18% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน และไอศกรีม ขยายตัว 11% ตลาดที่ขยายตัว อาทิ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม

สับปะรด

สำหรับ FTA ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้กับสินค้าของไทยในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันประเทศคู่ค้าได้ยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ส่งออกจากไทยส่วนใหญ่แล้ว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่มีความท้าทายสูง สอดคล้องกับสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปด้วย FTA ที่มีการใช้สิทธิสูงเป็นอันดับต้น อาทิ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดและแปรรูป น้ำตาล สินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ไทยได้ลงนาม FTA ฉบับที่ 15 กับศรีลังกา ซึ่งครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้ากว่า 85% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567 ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายส่งออกไปตลาดการค้าเสรี โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษี กฎระเบียบทางการค้าและการลงทุน ได้ที่เว็บไซต์ www.dtn.go.th หรือ ศูนย์ FTA Center โทร. 0 2507 7555

  

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ